จัดการ ทิปร้านอาหาร อย่างไรให้แฟร์ต่อพนักงานทุกคน

การจัดการ ทิปร้านอาหาร แม้จะดูเป็นเรื่องเล็กน้อย และไม่น่ามีประเด็นให้ต้องคิดเยอะ แต่หากจัดการให้ดี ก็สามารถซื้อใจลูกน้องได้ไม่ยาก ในทางกลับกัน หากคุณมีวิธีจัดการกับทิปได้อย่างไม่เหมาะสม ก็อาจทำให้ลูกน้องมองว่า คุณเป็นเจ้าของร้านที่ไม่ยุติธรรมก็เป็นไปได้

หากคุณเป็นเจ้าของร้านอาหารมือใหม่ ที่กำลังมองหาวิธีจัดการ ทิปร้านอาหาร ให้แฟร์กับพนักงานทุกคน และยังไม่รู้ว่าจะใช้วิธีไหนดี บทความนี้วิธีจัดการทิปแต่ละแบบมาแนะนำ พร้อมข้อดีข้อเสีย เพื่อให้คุณพิจารณาเลือกวิธีที่เหมาะกับร้านของตัวเองมากที่สุด

ให้ทิปรวม

วิธีการแรกที่เห็นได้ในหลายๆ ร้าน คือการนำทิปที่ได้มาหารเท่าๆ กัน ร้านอาหารส่วนใหญ่ที่ใช้วิธีการนี้มักจะมีความคิดว่า ทุกๆ ตำแหน่งมีความสำคัญเท่ากันหมด ดังนั้น การจัดการทิปจึงควรนำมาแบ่งกัน ไม่ใช่ให้กับคนใดคนหนึ่ง

แม้จะเป็นวิธีการที่คิดขึ้นมาเพื่อความเท่าเทียม แต่การให้ทิปแบบนี้ อาจทำให้พนักงานบางคนรู้สึกไม่พอใจ เพราะมองว่าตัวเองทำงานหนักกว่าคนอื่นๆ ในขณะที่บางคนทำงานแบบกินแรงเพื่อน หรือทำงานต่ำกว่ามาตรฐาน กลับได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ทำให้คนที่ทุ่มเทและตั้งใจทำงานอาจรู้สึกถึงความไม่ยุติธรรมได้

นอกจากนี้บางร้านอาจใช้วิธีการจัดแบ่งโซน แล้วนำทิปที่ได้มาหารแยกกันในแต่ละโซน วิธีการนี้แม้จะทำให้พนักงานได้เงินมากกว่าการหารรวมกันทั้งร้าน แต่ก็มีข้อเสียตรงที่ว่า หากโซนไหนไม่มีลูกค้า ก็จะอดได้เงินทิปไปเลยนั่นเอง

ให้ทิปแยก

วิธีการนี้คือ การที่ให้พนักงานที่ได้รับทิปมาจากลูกค้าเก็บทิปเอาไว้เลย โดยไม่ต้องนำมาไว้ที่กองกลางเพื่อแบ่งกับพนักงานตำแหน่งอื่นๆ 

ข้อเสียของวิธีการนี้ที่เจอได้บ่อยๆ คือ พนักงานแย่งลูกค้ากันเอง เพราะอยากได้ทิป หรือไม่ก็เกิดการทะเลาะ และอิจฉากัน ซึ่งส่งผลเสียต่อบรรยากาศของการทำงานได้

แนะนำว่า หากอยากเลือกวิธีนี้ แต่ไม่อยากให้เกิดปัญหาระหว่างพนักงาน เจ้าของร้านควรให้เงินค่าจ้างที่สมเหตุสมผล ไม่กดเงินให้น้อยจนเกินไปเพราะคิดว่าอย่างไรพนักงานก็จะได้ทิป เพื่อให้พนักงานไม่คาดหวังกับเงินทิปมากจนเกินไป  และตั้งใจทำงานของตัวเองตามค่าจ้างที่ได้รับ

ให้ทิปได้ทั้ง 2 แบบ

อีกวิธีหนึ่งที่หลายร้านนิยมทำกัน ก็คือ การให้ทิปได้ทั้ง 2 แบบ หากลูกค้าใส่ทิปไว้ในกล่องทิป หรือในถาด เงินก้อนนั้นจะกลายเป็นทิปรวมในช่วงสิ้นเดือน และจะมีการแบ่งเฉลี่ยเท่าๆ กัน

แต่หากลูกค้าทิปมือ หรือยื่นเงินให้พนักงานโดยตรงกับมือ พนักงานคนนั้นก็สามารถเก็บเงินไว้เป็นของตัวเองได้เลย ไม่ต้องแบ่งใคร เพราะถือว่า ลูกค้าประทับใจกับการให้บริการคนนั้น 

วิธีการนี้มีข้อดีคือแฟร์กับพนักงานทุกคน แม้ว่าจะบางคนจะไม่ได้ทำงานบริการอยู่หน้าร้าน แต่ก็ยังได้ทิปไปด้วย ส่วนพนักงานหน้าร้านก็จะได้มากขึ้นกว่าตำแหน่งอื่นๆ เพราะต้องสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้า และรองรับอารมณ์ของลูกค้าโดยตรง

อย่างไรก็ตาม การที่ยังมีวิธีการให้ทิปแยกอยู่นั้น ก็อาจจะยังทำให้เกิดเหตุการณ์พนักงานแย่งลูกค้ากันได้เช่นเดิม 

ให้ทิปรวมแล้วแบ่งตามสัดส่วน

วิธีการสุดท้าย เป็นวิธีที่พบได้ไม่บ่อยนัก แต่น่าสนใจไม่น้อย นั่นก็คือ การให้ทิปรวม โดยไม่นำมาแบ่งแบบหารเท่ากันทุกคน แต่จะใช้วิธีแบ่งตามสัดส่วน 

ตัวอย่างเช่น ในเดือนนี้ได้รับทิปรวมมาจากลูกค้า 10,000 บาท เจ้าของร้านก็นำทิปดังกล่าวมาจัดแบ่งตามผลประเมิน หรือกฎเกณฑ์ของร้านที่เคยแจ้งพนักงานไว้ เช่น หากใครขาด ลา มาสาย หรือถูกคอมเพลนจากลูกค้าบ่อยๆ ก็ได้สัดส่วนทิปลดหลั่นกันไป โดยเจ้าของร้านจะต้องไม่ลืมจดบันทึกจำนวนครั้งที่ลูกน้องขาด ลา มาสาย หรือถูกคอมเพลนเอาไว้ด้วย

สาเหตุที่ใช้วิธีการแบ่งตามสัดส่วน เพราะบางครั้งพนักงานในครัวไม่มาทำงาน หรือมาทำงานสาย อาจส่งผลให้อาหารออกช้า ส่งผลให้ลูกค้าไม่พอใจ ดังนั้น การคิดเงินทิปจึงควรนำปัจจัยเหล่านี้มาร่วมคำนวณด้วย

วิธีการนี้จะทำให้พนักงานในทุกๆ ตำแหน่งมีโอกาสได้เงินทิป ไม่จำกัดเฉพาะพนักงานที่ให้บริการหน้าร้านเท่านั้น ส่วนใครจะได้มากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับการทำงานของตัวเอง

เชื่อว่าเจ้าของร้านอาหารน่าจะพอมีไอเดียแล้วว่า วิธีการจัดการ ทิปร้านอาหาร แบบไหนที่เหมาะกับร้านของตัวเองมากที่สุด

Tips วิธีรักษาพนักงานให้อยู่กับเรานานๆ

นอกจากจากจะหาพนักงานยากแล้ว การรักษาพนักงานให้อยู่กับเราไปนานๆ นั้นยากยิ่งกว่า คนที่ทำงานเก่งๆ บางคน อาจถูกร้านอื่นซื้อตัวไป บางคนทำงานได้ไม่กี่สัปดาห์ หรือหนักกว่านั้นคือไม่กี่วัน ก็หายไปดื้อๆ โดยไม่บอกไม่กล่าว บางคนกลับบ้านต่างจังหวัดในช่วงเทศกาล หลังจากนั้นก็ไม่กลับมาอีกเลย ทำให้เจ้าของร้านไม่มีเวลาตั้งตัวในการหาพนักงานใหม่ 

ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น พนักงานรู้สึกว่าร้านไม่แฟร์ ใช้งานหนักเกินค่าจ้างที่ได้รับ ไม่ได้รับการดูแลและปฏิบัติที่ดี เพื่อนร่วมงาน toxic รวมไปถึงสาเหตุส่วนตัวของพนักงานเอง เช่น ต้องการกลับไปดูแลครอบครัว มีปัญหาสุขภาพ ย้ายบ้านไปไกล จึงไม่สะดวกเดินทางมาทำงาน เจองานอื่นที่มีโอกาสความก้าวหน้ามากกว่าเดิม ฯลฯ

จะเห็นได้ว่า บางสาเหตุของการลาออกนั้นเป็นปัจจัยภายนอก ที่เราควบคุมไม่ได้ จึงต้องฝึกทำใจเอาไว้สักหน่อย ส่วนสิ่งที่เราทำได้ และควรทำให้ดีที่สุดนั้น คือปัจจัยภายในที่มาจากตัวเราเอง นั่นก็คือ ต้องหมั่นดูแลเอาใจใส่พนักงานเสมอ ทำให้พนักงานรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของร้าน มาทำงานแล้วมีความสุข ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการที่เป็นธรรม มีวันหยุดที่เหมาะสม เป็นไปตามที่ตกลงเอาไว้ตั้งแต่วันสัมภาษณ์งาน มีรางวัลตอบแทนความขยันตั้งใจ หากทำยอดขายได้ถึงเป้า ก็ควรแบ่งเงินพิเศษให้พนักงานด้วย นอกจากนี้ควรพัฒนาทักษะให้พนักงานเสมอ พร้อมกับทำให้พนักงานมองเห็นโอกาสเติบโตของตัวเอง เพื่อให้พวกเขาอยากอยู่กับเราไปนานๆ

📌 ติดตามข่าวสารธุรกิจร้านอาหาร

Facebook : Torpenguin

Instargram : torpenguin

TikTok : @torpenguin

YouTube: Torpenguin

👉🏻 อ่านต่อบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

วิธีบริหารต้นทุน (Cost Control) สำหรับร้านอาหาร แบบเข้าใจง่าย

พ่อครัวหวงสูตร ปัญหาน่าหนักใจเจ้าของร้านอาหาร ที่จัดการและป้องกันได้

ทำเลไม่ดี แต่ก็ย้ายที่ไม่ได้ รวมวิธีแก้ปัญหาเรื่องทำเล สำหรับร้านอาหาร

เทรนพนักงานต้อนรับ ให้เป๊ะ ต้อนรับลูกค้าอย่างไร ให้ประทับใจตั้งแต่เข้าร้าน

Collaboration Marketing เปลี่ยนคู่แข่งเป็นคู่ค้า สร้างพันธมิตรธุรกิจอาหาร

เคล็ดลับการหุงข้าว แบบไม่ต้องแยกหม้อ สำหรับร้านอาหาร

5 ปัจจัยที่มีผลต่อการหา แหล่งซื้อวัตถุดิบ และอุปกรณ์เข้าร้าน ได้ของดีคุมต้นทุนได้

Image by rawpixel.com on Freepik