หาทำเล เปิดร้านก๋วยเตี๋ยว

หาทำเล เปิดร้านก๋วยเตี๋ยว เปิดยังไงให้ได้กำไร ?

 

ก๋วยเตี๋ยว หนึ่งในธุรกิจที่ทำง่าย ขายคล่อง ยิ่งถ้าได้ทำเลดี ๆ ก็ยิ่งทำให้ร้านของเรามีโอกาสเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

 

การเลือกทำเลจึงกลายเป็นคีย์สำคัญที่ช่วยเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จของร้านก๋วยเตี๋ยวในปัจจุบัน

 

คำถาม : ทำเลแบบไหนที่ทำให้ก๋วยเตี๋ยวของเรามีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จสูง?

 

จริง ๆ การเลือกทำเลร้านก๋วยเตี๋ยว ก็ไม่ได้แตกต่างจากการเลือกทำเลร้านอาหารส่วนใหญ่มากนัก เพราะคีย์หลัก ๆ หรือสิ่งสำคัญจริง ๆ คือ เราต้องรู้ก่อนว่า ‘เราจะขายใครก่อน’

เช่น ถ้าร้านก๋วยเตี๋ยวของเราจะขายให้นักเรียน ทำเลขายของเราต้องมีนักเรียน อยู่ในโซนโรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงเรียนกวดวิชา หรือโซนที่กลุ่มครอบครัวอาศัยอยู่เยอะ ๆ

ถ้ากลุ่มลูกค้าร้านก๋วยเตี๋ยวของเราเป็นพนักงานออฟฟิศเงินเดือน 20,000 – 50,000 หมื่นบาท การเลือกทำเล และการตั้งราคา รวมไปถึงการเพิ่มมูลค่าในแบรนด์ ต้องตอบโจทย์ความต้องการของคนกลุ่มนี้ ที่อาจต้องการมากกว่าแค่ความอร่อย

แต่สำหรับพื้นฐานการเลือกทำเลโดยทั่วไป ที่จะเสริมให้ร้านของเราปังมากยิ่งขึ้น สามารถพิจารณาจากองค์ประกอบดังต่อไปนี้

 

1. วิเคราะห์ข้อมูลกลุ่มลูกค้า และพฤติกรรมการซื้อของคนในทำเลที่เราเลือก

อันดับแรกนึกถึงกลุ่มลูกค้าที่จะขายก่อน เราจะขายใคร เมื่อเรามีภาพแล้วว่าธุรกิจของเราจะขายของใคร ให้ไปสังเกตดูพฤติกรรมคนกลุ่มนั้นอย่างละเอียด

เช่น จะขายให้กลุ่มพนักงานออฟฟิศ ดังนั้นทำเลที่คิดว่าเหมาะก็คือโซนตึกออฟฟิศในเมืองต่าง ๆ แต่ถ้าต้องการร้านพื้นที่ขนาดใหญ่ ในเมืองคงไม่เหมาะ ทั้งเรื่องราคาด้วย อาจจะต้องออกมาหาทำเลนอกเมืองแต่ยังเป็นแหล่งที่คนอาศัย

หรือการที่ขายได้แค่ช่วงจันทร์-ศุกร์ เท่านั้น วันเสาร์-อาทิตย์อาจจะเงียบ สำหรับทำเลออฟฟิศ ดังนั้นเราต้องถามตัวเองดูก่อนว่ารับกับข้อจำกัดตรงนี้ได้หรือไม่ หรือเราสามารถหาวิธีสร้างรายได้เพิ่ม เพื่อทดแทนกับยอดวันเสาร์ – อาทิตย์ และวันหยุดตามปฎิทินตรงจุดนี้ได้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป็นต้น

 

2. ดูว่าเป็นทำเลที่กลุ่มลูกค้าเราอยู่อย่างหนาแน่นหรือไม่

ถ้าเราต้องการขายราคาไม่ได้สูงมาก เราต้องหาทำเลที่มีทราฟฟิกของกลุ่มลูกค้าอยู่จำนวนมาก เพราะต้องขายให้ได้ยอดที่คุ้มทุน

 

3. เป็นทำเลที่เข้าถึงสะดวกสบาย

ในแง่เดินทาง ถ้าง่าย มีที่จอดรถ ซักหน่อยก็จะเป็นการดี เพราะหากการเดินทางยาก เราอาจมีลูกค้าประจำน้อย เนื่องจากคนที่เคยมาแล้วอาจมีลูกค้าไม่น้อยที่ตัดใจไม่มาซ้ำ เพราะความยากลำบากในการเดินทาง หาที่จอดไม่ได้แม้แต่มอเตอร์ไซด์

หรือเราจะเลือกทดแทนด้วยสิ่งอื่นแทน เช่นการที่เราจะสร้างประสบการณ์ในร้านที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มกับการเดินทางมา เป็นต้น

 

4. คู่แข่งโดยตรงไม่เยอะเกินไป

คู่แข่งทางตรง (Direct Competitors) คือคู่แข่งที่ขายอาหารประเภทเดียวกับร้านของเรา มีรูปแบบเมนูและราคาขายใกล้เคียงกัน และจับกลุ่มลูกค้าเดียวกัน

หากมีคู่แข่งทางตรงอยู่เยอะในบริเวณทำเลที่คุณอยากจะเอาตัวเองเข้าไปอยู่ และเมื่อเราสร้างความแตกต่างจากเจ้าอื่นไม่ได้ สิ่งที่ตามมาคือ การที่เราจะเริ่มเอาตัวเองเข้าไปสู่การแข่งขันในสงครามราคา ที่ถ้าคุณไม่ได้มีสายป่านที่ยาวก็มีแต่เจ็บตัว เจ็บใจ แล้วก็เจ๊งไปตามระเบียบอย่างแน่นอน

สิ่งที่เราควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกคือ คู่แข่งทางตรง (Direct Competitors) เพราะเป็นคู่แข่งที่ส่งผลโดยตรงต่อร้านอาหารของเรา แต่ก็อย่าลืมคำนึงถึงคู่แข่งทางอ้อม (Indirect Competitors) ด้วย เพราะในบางสถานการณ์อาจกลายมาเป็นคู่แข่งทางตรงของร้านเราได้
สมมุติว่าถ้าเราทำร้านก๋วยเตี๋ยวต้มยำราคาชามละ 80 -100 บาท แน่นอนว่าคู่แข่งทางตรงของเราก็คือ ร้านก๋วยเตี๋ยวที่ขายราคา 70 – 120 บาทในบริเวณนั้น
ส่วนคู่แข่งทางอ้อมของเรา อาจเป็นร้านอาหารที่อยู่ในบริเวณนั้นแต่ขายคนละอย่างกับเรา แต่ราคาเท่ากัน เช่น ร้านเกาเหลาเนื้อตุ๋น ร้านส้มตำ ที่ขายราคาอยู่ในช่วง 70 – 120 บาทเป็นต้น

 

5. ค่าเช่า และความไหวของเรา

หลาย ๆ ครั้ง เรามักพยายามที่จะเอาตัวเองเข้าไปอยู่ หรือ กัดฟันเข้าไปลุยในพื้นที่ที่มีกำลังซื้อสูง สู้ค่าเช่าที่แพงหูฉีก เพราะหวังเม็ดเงินมากมายจากตรงนั้น

จนกลายเป็นว่าการเกินกำลังตัวเองตั้งแต่ต้น ทำให้เราลำบากในภายหลัง อย่าเป็นแบบนั้นกันเลย

สิ่งแรกเราต้องดูว่าพอคำนวณจุดคุ้มทุนแล้ว ต่อวันเราต้องขายให้ได้กี่ถ้วย บางร้านสามารถขายราคาต่อหัวได้มาก ค่าเช่าที่สูง ก็คงไม่ใช่ปัญหา แต่ถ้าไม่ ปัญหาเกิดกับร้านคุณแน่นอน โดยปกติร้านอาหารไม่ควรจ่ายค่าเช่าเกิน 5 – 10% ของรายได้รวมโดยประมาณ

ถ้าดูแล้วยอดขายไม่น่าถึง การการถอย ปรับเปลี่ยนรูปแบบราคาสินค้าที่ขาย หรือเปลี่ยนทำเล ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงลงได้

 

และเมื่อคุณตัดสินใจแล้ว ว่าฉันจะอยู่ตรงนี้ ฉันเลือกตรงนี้ ทุกอย่างคือใช่สำหรับคุณตามที่ได้วิเคราะห์ตาม 4 ข้อข้างบน

ขั้นต่อมาที่เราต้องทำคือการเจรจาต่อรองค่าเช่าที่ครับ สิ่งสำคัญที่สุด แบบขีดเส้นใต้สีแดงหนา ๆ สองเส้นไว้เลย คือ อย่าลืมดู สัญญาเช่า ให้ดีนะครับ

อย่าสั่นกลัวที่จะต่อรองเงื่อนไขในสัญญาเช่า ยิ่งถ้าพื้นที่ที่คุณจะเช่าไม่ได้มีใครมาเช่าเป็นระยะเวลานาน ๆ ก็ยิ่งมีโอกาสในการต่อรองได้ในระดับหนึ่ง อาจจะขอลด หรือไม่คิดค่าเช่าช่วงตกแต่ง (โดยปกติไม่คิดค่าเช่าหลังทำสัญญา 30 วัน) หรือต่อรองช่วงฟรีค่าเช่า เรื่องภาษีโรงเรือน ทั้งนี้ก็ขึ้นกับการพูดคุยตกลงกัน

 

สำหรับใครที่กำลัง หาทำเล เปิดร้านก๋วยเตี๋ยว หรือเปิดร้านอาหารประเภทอื่น ๆ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เราควรสังเกตการณ์ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกทำเลใดทำเลหนึ่ง ถ้าอยากขายได้ อย่าเอาเรื่องความสะดวกของเราเป็นตัวตั้ง แต่ให้เลือกที่ที่มีลูกค้าของเราอยู่ หวังว่าทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับว่าที่เจ้าของร้านอาหารทุกคนนะครับ

 

📌 ติดตามข่าวสารธุรกิจร้านอาหาร

Facebook : Torpenguin

Instargram : torpenguin

TikTok : torpenguin

Youtube : Torpenguin

 

📌 อ่านต่อบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เปิดร้านในตึกแถว เลือกทำเลยังไงให้โดนลูกค้าตัวจริง

ทำเลไม่ดี แต่ก็ย้ายที่ไม่ได้ รวมวิธีแก้ปัญหาเรื่องทำเล สำหรับร้านอาหาร

ปัจจัยสำคัญในการเลือก ทำเลที่ตั้งร้านอาหาร

ปรับธุรกิจให้เข้ากับคนพื้นที่ ด้วยกลยุทธ์ Localization Strategy ที่ร้านเชนใหญ่มักใช้