วิธีเช็ก สภาพคล่องของกิจการร้านอาหาร ที่เจ้าของร้านต้องรู้

หนึ่งสาเหตุที่ทำให้ร้านอาหารหลายร้านไปไม่รอด เพราะมีเงินสดหมุนเวียนในกิจการไม่เพียงพอ แม้ว่าดูเผินๆ เหมือนจะมีรายรับเข้ามาเยอะ แต่พอมาดูฝั่งรายจ่ายแล้ว กลายเป็นว่าเงินติดลบ แถมยังมีเงินเหลือสำหรับดำเนินกิจการต่อไปได้แค่ไม่กี่เดือน เรียกง่ายๆ ว่า เงินตึงมือ หรือขาด สภาพคล่องของกิจการร้านอาหาร นั่นเอง

สภาพคล่องของกิจการร้านอาหาร นอกจากจะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับกิจการของเราได้แล้ว ยังช่วยประเมินความเสี่ยงในการทำธุรกิจได้อีกด้วย ร้านไหนที่มีความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ก็แปลได้ว่า ร้านนั้นอาจมีเงินสดหมุนเวียนไม่เพียงพอสำหรับจ่ายค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแรงพนักงาน ค่าวัตถุดิบ หรือแม้กระทั่งจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งอาจนำไปสู่จุดจบของร้านอาหารได้

บทความนี้จะพาเจ้าของร้าน มาเช็ก สภาพคล่องของกิจการร้านอาหาร เพื่อให้มองเห็นอนาคตของกิจการ หากมีความเสี่ยง จะได้หาทางปรับปรุงแก้ไขได้ทัน

วิธีเช็กสภาพคล่องของกิจการร้านอาหาร

การเช็กสภาพคล่องของกิจการร้านอาหาร มีสูตรดังนี้

อัตราส่วนสภาพคล่อง = สินทรัพย์หมุนเวียน / หนี้สินหมุนเวียน

ก่อนจะเริ่มต้นคำนวณ ลองมาทำความเข้าใจคำศัพท์เหล่านี้กันก่อน

  • อัตราส่วนสภาพคล่อง (Current Ratio) = ความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้น หากค่าที่คำนวณสูง (เกินกว่า 2 เท่า) แปลว่า กิจการมีความคล่องตัวในการชำระหนี้ระยะสั้นค่อนข้างมาก
  • สินทรัพย์หมุนเวียน = สินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง หรือสามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ไว (ภายใน 1 ปี) ตัวอย่างสินทรัพย์หมุนเวียนสำหรับร้านอาหาร เช่น เงินสด เงินที่อยู่ในบัญชีธนาคาร รวมถึงสินค้าคงเหลือต่างๆ เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม หรือวัตถุดิบในสต็อก
  • หนี้สินหมุนเวียน = หนี้สินระยะสั้นที่ ที่มีรอบชำระไม่เกิน 1 รอบบัญชี หรือในระยะเวลา 1 ปี นับจากวันที่เริ่มเป็นหนี้ ตัวอย่างหนี้สินหมุนเวียนสำหรับร้านอาหาร เช่น ค่าเช่าที่ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแรง รวมทั้งค่าวัตถุดิบต่างๆ ที่เราซื้อด้วยเงินเชื่อ

ตัวอย่างการคำนวณ

สมมติร้านอาหารของเรามีสินทรัพย์หมุนเวียน 200,000 บาท และมีหนี้สินหมุนเวียน 80,000 บาท ให้นำตัวเลขมาคำนวณตามสูตร

200,000/80,000 เท่ากับร้านของเรามีอัตราส่วนสภาพคล่อง 2.5 เท่า ซึ่งถือว่า กิจการของเรามีความคล่องตัวในการชำระหนี้สั้นค่อนข้างมาก หรือมีความเสี่ยงต่ำด้านสภาพคล่องนั่นเอง

ทำอย่างไรเมื่อกิจการมีความเสี่ยงสูงด้านสภาพคล่อง

1. ประมาณการรายจ่าย: สิ่งที่ต้องรีบทำเป็นอันดับแรก คือการตรวจสอบว่า รายจ่ายของร้านอาหารเรามีอะไรบ้าง 

เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแก๊ส ค่าโทรศัพท์ ค่าอุปกรณ์สำนักงาน ค่าทำการตลาด ค่าน้ำยาทำความสะอาด ค่าฉีดพ่นกำลังแมลง ค่ารับรองแขก ค่าวัสดุสิ้นเปลือง ค่าทำบัญชี ค่าธรรมเนียม ค่าภาษี ค่าปรับ ค่าดอกเบี้ย ค่าซ่อมแซม ค่าบำรุงรักษา รวมไปถึงค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดอื่นๆ เช่น ค่าซื้อของไหว้เจ้าที่ ฯลฯ

2. แบ่งบัญชีรายรับ: ขั้นตอนต่อมา เจ้าของร้านอาหารควรแบ่งบัญชีรายรับสำหรับโอนเงิน และเงินสดออกจากกัน เพื่อให้รู้ว่าเงินเข้ามาจากทางไหนเป็นจำนวนเท่าไหร่ และสามารถประมาณการรายได้ได้

3. ประเมินความสามารถในการชำระเงิน: เมื่อรู้รายจ่ายและรายรับทั้งหมดแล้ว เจ้าของร้านก็สามารถประเมินต่อไปได้ว่า เรามีเงินพอใช้จ่ายแต่ละเดือนหรือไม่

4. ควบคุมค่าใช้จ่าย: หากเงินเริ่มไม่เพียงพอ ก็จะได้มาดูต่อไปว่า ควรจะควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างไร หลักการในข้อนี้คือ พยายามลดรายจ่าย หรือชะลอการจ่ายเงินที่ไม่จำเป็นออกไป และเพิ่มกระแสเงินสดให้มากยิ่งขึ้น

  •  ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น อย่างการปิดแอร์ในช่วงที่ลูกค้าเข้าร้านน้อย ตัดเมนูที่ขายไม่ดีออกไป
  •  นำวัตถุดิบที่มีอยู่ในครัวมาสร้างเป็นเมนูใหม่ที่ขายออกง่าย เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการสต็อกวัตถุดิบ และเพิ่มกระแสเงินสดในร้าน
  • วางแผนสั่งซื้อวัตถุดิบในปริมาณที่เพียงพอต่อยอดขาย เพื่อไม่ให้เงินไปจมอยู่แต่ในตู้แช่

รู้อย่างนี้แล้ว รีบมาเช็กสภาพคล่องของกิจการร้านอาหารกันเลย เพื่อไม่ให้กิจการของเราหยุดชะงักกลางคัน หรือปิดตัวลงไปอย่างน่าเสียดาย

Image by Freepik

📌 ติดตามข่าวสารธุรกิจร้านอาหาร

Facebook : Torpenguin

Instargram : torpenguin

TikTok : @torpenguin

YouTube: Torpenguin

👉🏻 อ่านต่อบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

วิธีพยากรณ์ยอดขาย (Sales Forecast) อย่างแม่นยำ สำหรับร้านอาหาร

ทำความรู้จัก QSC ร้านอาหาร ระบบประเมินมาตรฐาน ที่ร้านอาหารควรมี

9 เทคนิค วางผังครัวร้านอาหาร ให้ทำงานราบรื่น แถมประหยัดต้นทุน

ทำความเข้าใจเรื่อง SOP ร้านอาหาร สิ่งสำคัญที่ทุกร้านต้องมี

วิธีง่ายๆ ใน การทำงบกำไรขาดทุน (P&L) สำหรับร้านอาหาร