ร้าน Henryfry คราฟต์ไก่ทอดสูตรเฮ้าส์เมด ความกรุบกรอบสุดพิถีพิถันที่ต้องรอนานหน่อยนะ
“อยากกลับบ้าน” นี่คือจุดเริ่มต้นของ ร้าน Henryfry : Fried Chicken & Housemade food. ที่ คุณนุ้ย-ศิริชัย สมานวิบูลย์ เกริ่นให้เราฟัง คุณนุ้ยทำงานในสายโปรดักส์ชั่นเฮ้าส์ เดินในเส้นทางของผู้ช่วยผู้กำกับมาเกือบ 10 ปี ซึ่งอย่างที่เราก็น่าจะทราบกันว่าเป็นสายงานที่ไม่ค่อยได้กลับบ้านซักเท่าไหร่
จนมีเหตุการณ์ที่ผลิกเส้นทางของคุณนุ้ยนั่นก็คือคุณแม่ของคุณนุ้ยต้องเข้าไอซียูกระทันหันในขณะที่คุณนุ้ยทำงานอยู่ต่างจังหวัด “เหตุการณ์นั้นมันทำให้เราคิดว่าเราไม่สามารถดูแลเขาได้เลยถ้าเรายังทำงานนี้อยู่ เราเริ่มรู้สึกว่าอยากมีเวลาดูแลพ่อแม่ เพราะทั้งสองก็เริ่มแก่ลงทุกวัน ” นี่เป็นจุดตั้งต้นที่ทำให้คุณนุ้ยเริ่มมองหาเส้นทางใหม่ที่จะทำให้เขาได้กลับมาอยู่ใกล้ครอบครัว จนมาลงตัวที่ธุรกิจอาหาร
“ก็เลยมาเป็นร้านไก่ทอดใช่มั้ยครับ”
“ไม่ครับ ไอเดียแรกยังไม่ใช่ไก่ทอด”
คุณนุ้ยเล่าให้เราฟังว่า ‘ร้านขนม’ คือไอเดียแรกที่คิดจะทำเพราะตัวคุณนุ้ยเองเป็นคนชอบกินขนมหวานแต่สุดท้ายก็พับไอเดียนี้ไปเพราะรู้สึกว่าถ้าเราจะทำ เราก็คงทำตามรสชาติแบบร้านที่เราชอบกิน ถ้าจะทำเหมือนเขาแบบนั้นจะทำทำไม สู้มาหาอะไรที่เราทำแล้วแตกต่างดีกว่า ถูกมั้ยครับ
จึงเป็นโจทย์ที่ต้องคิดต่อว่าถ้าไม่ใช่ขนมแล้วจะเป็นอะไร? คิดมาหลายเดือนก็ได้คำตอบว่า ใช่! เราชอบกินไก่ทอด กินไก่ทอดได้ทุกแบบ ข้างทาง แบรนด์ไก่ทอดเชนใหญ่ อะไรก็ได้ขอแค่เป็นไก่ทอด ชอบถึงขนาดว่ากินได้ทุกวัน เมนูสิ้นคิดของคนอื่นอาจเป็นกระเพราหมูสับไข่ดาว แต่สำหรับคุณนุ้ยมันคือไก่ทอด เลยมาตกลงปลงใจที่ไก่ทอดสไตล์อเมริกันเพราะรู้สึกว่าในบรรดาไก่ทอดทุกแบบเราชอบกินไก่ชุบแป้งทอดกรอบแบบนี้ที่สุด
หลักจากได้คำตอบแล้วคุณนุ้ยใช้เวลาอยู่ 1 ปีเต็มในการรีเสิร์ช ซึ่งทำควบคู่ไปกับงานผู้ช่วยผู้กำกับด้วยเพราะต้องหาเงินทำร้าน โดยเริ่มจากการตระเวนกินหลาย ๆ ที่ และทดลองสูตรร่วมกับเพื่อนเชฟอย่างคุณสายขิม – อภิชญา พรมแสง ซึ่งกว่าจะออกมาเป็นรูปแบบและรสที่ชอบก็ใช้เวลาอยู่นานพอสมควร
“ตอนเริ่มทำร้านไม่ได้บอกพ่อกับแม่เลย” มันเป็นการออกจากงานที่ค่อนข้างมั่นคงในระดับนึงมาริเริ่มทำสิ่งใหม่ที่ไม่รู้ว่าอนาคตมันจะสำเร็จรึเปล่า ด้วยอายุเราก็ไม่ใช่น้อย ๆ แล้ว สำหรับพ่อแม่มันคือเรื่องอันตราย เพราะเขามองเรื่องความมั่นคงมากกว่า แต่พอร้านเริ่มเป็นรูปเป็นร่างก็เลยตัดสินใจบอกด้วยการพาเขามาที่ร้านเลยแล้วบอกว่านี้ร้านของเรา ต่อไปเราจะทำสิ่งนี้และจะได้กลับมาอยู่กับพ่อแม่ เขาก็ตกใจแหละ แต่ยังดีที่เขาเข้าใจ
เริ่มเปิดร้านได้ 3 เดือน บู้ม! โควิด…
Henryfry ก็เซไปซักพักเหมือนกัน ไก่ทอดจุดอร่อยของมันก็คือความร้อนและความกรอบ นี่เป็นปัญหาใหญ่เลยเมื่อเข้าสู่เดลิเวอรี คุณนุ้ยก็ต้องมีการปรับสูตรเพิ่มเติมเพื่อให้ไก่ของ Henryfry ยังคงความกรอบแม้ทิ้งไว้นาน (ซึ่งกรอบจริงครับ!)
ยืนหนึ่งเรื่อง ‘รอนาน’
เมื่อเราให้คุณนุ้ยนิยามความเป็น Henryfry นี่คือสิ่งที่คุณนุ้ยบอกกับเรา
“เพราะอยากให้ลูกค้าได้กินไก่หลังจากทอดเสร็จทันที เพราะมันคือช่วงเวลาที่ไก่ทอดอร่อยที่สุด” คุณนุ้ยจึงทอดใหม่ทุกครั้งที่ลูกค้าสั่ง ซึ่งแต่ละส่วนก็จะมีเวลาการทอดที่ต่างกันออกไป โดยใช้เวลาประมาณ 20-30 นาทีได้ ทำให้ได้รสชาติอร่อยที่สุด มันจะได้ความฉ่ำที่พอดี แต่ข้างนอกยังคงกรอบอยู่แบบที่เราตั้งใจให้เป็น”
ซึ่งมันก็มีทั้งคนที่เข้าใจและคนที่ไม่เข้าใจ เราจะบอกลูกค้าก่อนเสมอว่ารอนานนะ ลูกค้าที่เข้าใจเราก็ขอบคุณมาก ๆ และสำหรับคนที่ไม่เข้าใจเราก็ทำอะไรไม่ได้มากอยู่แล้วเพราะเราก็ไม่อยากที่จะเปลี่ยนมาตรฐานของเรา เรายังคงอยากยืนหยัดในแนวทางของเรา
“Henryfry มาไกลกว่าที่คิดไว้ม๊ากกกกกก” คุณนุ้ยลากเสียงยาวที่แทนความรู้สึกของเขาได้เป็นอย่างดี 55555555555 Henryfry เดินทางก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 แล้วในปีนี้ เกินความคาดหมายไปมากจริง ๆ ในช่วงแรกที่เปิดคุณนุ้ยคิดว่าได้ 6 เดือนก็เก่งแล้ว แถมผ่านโควิดมาได้อีก ทั้งหมดทั้งมวลต้องขอบคุณลูกค้าที่ยังรักและยังชื่นชอบในความเป็น Henryfry
ซึ่งก็เป็นปีที่ 3 ของคุณนุ้ยในธุรกิจอาหารเช่นกัน กับเส้นทางที่เปลี่ยนไปและใหม่ทั้งหมด ปัญหาในการทำร้านยังคงมีอยู่ ทำไม่ทันบ้าง ของหมดไวจนไม่พอต่อความต้องการบ้าง เรื่องของพนักงานบ้าง ก็ยังต้องแก้ปัญหากันต่อไปโดยคุณนุ้ยยึดหลัก ‘ร้าน ทีม ลูกค้า’ ทั้ง 3 สิ่งนี้ต้องไปด้วยกัน จะต้องบาลานซ์ให้ได้ ไม่เอียงเอนไปฝั่งใดฝั่งนึงมากจนเกินไป โดยทั้ง 3 สิ่งนี้ถูกเชื่อมกันด้วย ‘การสื่อสาร’ ทักษะนี้เป็นทักษะที่คุณนุ้ยคิดว่าจำเป็นมากสำหรับคนเป็นเจ้าของร้าน มันสำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้
“เมื่อก่อนผมไม่เคยคิดจะโตเลย อยากทำอยู่แค่ตรงนี้แหละพอใจแล้ว” คุณนุ้ยกล่าวเมื่อเราถามถึงก้าวต่อ ๆ ไปของ Henryfry เพราะที่ทำอยู่ในทุกวันนี้มันก็เหมือนทำสิ่งที่ตั้งใจไว้สำเร็จแล้วนั้นก็คือ ‘การได้กลับบ้าน’ แต่ความคิดก็เริ่มเปลี่ยนไปพอเริ่มมีน้อง ๆ ในทีม เราต้องมีช่องทางให้พวกเขาได้ไปต่อ ให้พวกเขาได้เติบโตไปมากกว่านี้ ไม่ใช่ว่าอยู่กับเราแล้วไม่มีอนาคต เราเลยจะต้องโต ที่คิดไว้ก็อาจจะเป็นการขยายสาขา หรือการแตกไลน์ไปในเวย์อื่น ๆ ก็ต้องรอดูกันต่อไปในอนาคต
ก่อนมาทำมักมีคนบอกอยู่เสมอว่าอย่าเข้ามาเลยวงการนี้ แรก ๆ มันก็น่ากลัวจริงแหละ แต่พอได้เริ่มทำเอาจริง ๆ มันสนุกนะ มันสนุกในทุกวันที่ได้ทำร้าน ได้เจอลูกค้า
“คนอื่นอาจจะห้ามแต่ผมไม่ห้ามคุณนะ ถ้าชอบสิ่งนี้จริง ๆ อยากเข้าก็เข้ามาเลย”
ติดตามข่าวสารธุรกิจร้านอาหาร
Facebook : Torpenguin
Instargram : torpenguin
TikTok : torpenguin
Youtube : Torpenguin
อ่านต่อบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
::: ถอดความสำเร็จจากร้านอาหาร :::
ถอดความสำเร็จ ผัดไทยหมี่กรอบ เจ้าแรกของไทย ร้านแม่ทุมผัดไทยเข่ง
ถอดความสำเร็จ The Bridge Bistro & Office Space เปิดคาเฟ่ชานเมืองให้ดึงดูดลูกค้า
ถอดบทเรียน พี่เขียวข้าวเหนียวห่อ ทำคอนเทนต์ยังไงให้ปังบน TikTok
::: ความรู้ :::
6 คำถามที่คุณต้องตอบให้ได้ก่อนคิดจะ เปิดร้านกาแฟให้สำเร็จ
มัดใจลูกค้า ด้วยกลยุทธ์ 5 จ การตลาดแบบเข้าใจลูกค้าอย่างแท้จริง
แสงสว่างสำคัญแค่ไหน ข้อควรรู้สำหรับ เทคนิคจัดไฟในร้านอาหาร
::: สูตรอาหาร :::
วิธีทำของทอด ให้กรอบทน กรอบนาน อร่อย ทำง่าย ลดต้นทุน
เคล็ดลับการหุงข้าว แบบไม่ต้องแยกหม้อ สำหรับร้านอาหาร
วิธีเก็บกุ้ง ให้สดเด้ง นาน 20 วัน พร้อมวิธีจัดการเปลือกกุ้ง เพิ่มมูลค่า