อยากเปิดร้านอาหาร
อยากเปิดร้านอาหาร เช็กความพร้อมของตัวเราเองด้วย 9 เช็กลิสต์นี้ก่อนลงมือทำจริง
“อยากเปิดร้านอาหาร ทำยังไงดี?”
“อยากจะลาออกจากงานประจำมาทำร้านอาหาร แต่ก็กลัว ไม่รู้ว่าจะรอดมั้ย”

ตั้งแต่ผมเริ่มทำเพจ Facebook มาก็มักจะมีคำถามประมาณนี้เวียนเข้ามาบ่อยๆ ครับ ตอบไม่หมดกันเลยทีเดียว วันนี้เราเลยอยากเอาเช็กลิสต์มาให้คุณได้ลองถามตัวเองดูครับว่าพร้อมจริงๆ มั้ยในธุรกิจนี้ มีอะไรบ้างไปดูกันเลย

 

 

1. คุณรักในธุรกิจร้านอาหารจริงมั้ย
นี่เป็นสิ่งแรกที่คุณจะต้องถามตัวเองเลย คุณรักในธุรกิจนี้จริงๆ มั้ยหรือแค่เป็นคนชอบทำอาหารเท่านั้น เพราะการทำอาหารกับการทำร้านอาหารมันคนละเรื่องกันเลย
ธุรกิจร้านอาหาร จริงๆ แล้วมันคือธุรกิจบริการผ่านอาหาร ที่คุณจะต้องคอยรองรับอารมณ์ของลูกค้า และความเครียดจากการทำร้านอยู่ตลอดเวลา ไม่เหมือนเวลาคุณทำอาหารที่อยากทำเมื่อไหร่ก็ได้
ถ้าคุณตอบตัวเองได้ว่าจริงๆ แล้วคุณแค่ชอบทำอาหาร อยากให้ลูกค้าได้ทานอาหารดีๆ ที่คุณทำเท่านั้น การทำร้านอาหารอาจไม่ได้ตอบโจทย์ Passion ในตัวคุณก็ได้ การทำ Delivery ที่โฟกัสอยู่ที่กับตัวการทำอาหารเป็นหลัก อาจเหมาะกับตัวคุณมากกว่าการเปิดร้านอาหารก็ได้

 

 

2. พร้อมที่จะเจ๊งมั้ย
ฟังไม่ผิดครับ ทุกคนที่ตัดสินใจเข้ามาในธุรกิจนี้ก็ย่อมหวังให้ร้านตัวเองขายดีเป็นเทน้ำเทท่าใช่มั้ยละครับ แต่ที่ต้องพูดแบบนี้ก็เพราะในชีวิตจริงอัตราการอยู่รอดของร้านอาหารภายใน 3 ปีมีไม่ถึง 10% แล้วคุณจะมั่นใจได้ยังไงว่าคุณจะเป็นผู้โชคดี 1 ใน 10% นั้น
ทุกการลงทุนมีความเสี่ยงครับ และยิ่งในธุรกิจที่มีอัตราเจ๊งสูงแบบนี้ ก่อนที่คุณจะตัดสินใจลงทุน คุณอาจจะต้องเผื่อใจไว้ระดับนึง
ผมไม่ได้ต้องการให้คุณถอดใจนะ แต่อยากให้คุณทำการบ้านให้หนักก่อนที่จะตัดสินใจลงเงินไป เพราะไม่งั้นคุณก็จะเป็น 90% ในตลาดที่เปิดแล้วก็ต้องปิดในระยะเวลาอันสั้น

 

 

3. พร้อมทำงานแบบ 24/7 มั้ย
เวลาคุณทำงานประจำ หน้าที่คุณก็จะมีเฉพาะด้านใดด้านนึงอย่างเดียว งานใดไม่เกี่ยวกับคุณคุณก็ไม่จำเป็นจะต้องเข้าไปยุ่ง พอถึงเสาร์อาทิตย์ หรือวันหยุดก็สามารถวางงานไว้ข้างๆ แล้วออกไปเที่ยวได้
แต่พอมาเป็นเจ้าของร้านอาหาร ทุกสิ่งทุกอย่างในร้านเป็นความรับผิดชอบของคุณหมด แทนที่วันหยุดคุณจะได้ไปเที่ยวเหมือนเดิม กลับเป็นวันที่คุณจะต้องเหนื่อยที่สุดเพราะเป็นช่วงที่ร้านขายดีที่สุด
หรือวันหยุดยาวที่เพื่อนๆ คุณไปเที่ยวกัน แต่คุณต้องมานั่งจ๋องเฝ้าร้านไถ่ฟีดโซเชียลดูเพื่อนๆ ไปเที่ยว เพราะพนักงานบางคนดันลากลับบ้าน บางครั้งคุณอาจจะต้องตื่นมากลางดึกเพราะงานระบบมีปัญหา น้ำไม่ไหล ไฟขัดข้อง คุณพร้อมรับเรื่องเหล่านี้หรือเปล่า
แต่ทั้งหมดทั้งมวลที่ว่ามานี้ก็ไม่ได้หมายถึงว่าคุณจะต้องทำเรื่องเหล่านี้ไปตลอดนะ เพราะตอนนี้ผมก็ไม่ได้ต้องเข้าร้านตลอดเหมือนแต่ก่อนแล้ว แต่ในช่วงปีแรกนั้นปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคุณแทบไม่ได้กระดิกตัวไปไหนนอกจากอยู่แต่ในร้านแน่นอน

 

 

4. มั่นใจว่า Products เราดีจริงหรือไม่
แน่นอนลูกค้ามาร้านอาหารคุณนอกเหนือจากบรรยากาศร้านแล้วเค้ามาก็เพราะต้องการมาทานอาหาร จะเกิดอะไรขึ้นถ้าอาหารคุณไม่อร่อยถูกปากเค้า ต่อให้คุณจะแต่งร้านดีแค่ไหนก็คงเป็นเรื่องยากที่เค้าจะกลับมาใช้บริการอีก ฉะนั้นก่อนที่คุณจะตัดสินใจทำร้าน จงมั่นใจว่าอาหารที่คุณทำมันดีพอสำหรับกลุ่มลูกค้าคุณ
หรือควรจะดีกว่าคู่แข่งด้วยซ้ำ เพราะถ้าคุณไม่ดีกว่าหรือแตกต่างจากคู่แข่งจะมีเหตุผลอะไรที่ลูกค้าจะเปลี่ยนใจมาทานร้านคุณ
ส่วนนึงของร้านอาหารที่เจ๊งไปเพราะตัวเจ้าของร้านไม่ได้มีความรู้เรื่องอาหารที่ตัวเองทำอย่างแท้จริง ทุกสิ่งทุกอย่างฝากชีวิตไว้กับเชฟเพียงอย่างเดียว หรือแย่ที่สุดคือคุณคิดว่าแค่นี้ก็อร่อยแล้วแต่ลูกค้ากลับไม่ได้คิดแบบเดียวกับคุณ
ซึ่ง Products ในที่นี่ไม่ได้หมายถึงเฉพาะตัวอาหารเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงช่วงราคา (Price point) เหมาะสมกับตลาดมั้ย รูปแบบเมนูหลากหลาย (Product mix) และดึงดูดพอหรือเปล่า

 

 

5. มีความรู้เรื่องธุรกิจร้านอาหารแล้วหรือยัง
ก่อนที่คุณจะเริ่มธุรกิจอะไรก็ตาม คุณก็ต้องมีความรู้ในเรื่องนั้นซะก่อนใช่มั้ยละครับ การทำร้านอาหารก็เช่นกัน คุณควรจะต้องรู้เรื่องธุรกิจร้านอาหารในเบื้องต้นซะก่อน
คุณจะต้องรู้ว่าต้นทุนร้านอาหารนอกจากค่าวัตถุดิบแล้วมีอะไรบ้าง เช่น ต้นทุนพนักงาน ต้นทุนค่าเช่า ค่าการตลาด ฯลฯ ซึ่งคุณควรจะต้องรู้ว่าโดยเฉลี่ยแล้วในประเภทอาหารที่คุณทำต้นทุนแต่ละอย่างควรอยู่ที่กี่เปอร์เซนต์
เพราะเวลาที่คุณเปิดร้านไปแล้วคุณสามารถกลับมาเช็คได้ว่าต้นทุนแต่ละอย่างของคุณสมเหตุสมผลหรือเหมาะสมหรือไม่ หรือมันมีจุดไหนที่รั่วไหลคุณก็จะได้สามารถปรับแก้ได้ทัน นอกจากนี้ Process ต่างๆ ทั้งในเรื่องของ การบัญชี การจัดซื้อวัตถุดิบ การจ่ายเงินซัพพลายเออร์ การบริหารจัดการพนักงาน ฯลฯ เป็นสิ่งที่คุณควรจะต้องเรียนรู้ตั้งแต่ก่อนเปิดร้านอาหาร ไม่ใช่รอให้ร้านเปิดแล้วค่อยมาเรียนรู้
ซึ่งปัจจุบันมีแหล่งเรียนรู้เยอะแยะมากมายครับที่คุณสามารถเข้าถึงได้ รวมไปถึงเว็บไซต์และเพจ Torpenguin นี้ด้วย (ขายของนิสนึง 555555) คอร์สที่เปิดอบรมเรื่องนี้ก็มีอยู่หลายที่ครับ

 

 

6. พร้อมที่จะเป็นเป็ดมั้ย
อย่างที่บอกไปในข้อก่อนหน้านี้ พอคุณก้าวเข้ามาเป็นเจ้าของร้านอาหารแล้วคุณไม่สามารถอ้างได้เลยว่าคุณไม่รู้เรื่องนั้นเรื่องนี้ เพราะการทำร้านอาหารก็เปรียบเสมือนกับการทำธุรกิจๆ นึงที่มีทั้งเรื่อง บัญชี บุคคล การตลาด การขาย การจัดการวัตถุดิบ พัฒนาผลิตภัณฑ์
นอกจากคุณจะต้องรู้ลึกในเรื่องที่คุณถนัดแล้ว คุณยังจะต้องรู้กว้างในเรื่องเหล่านี้ทั้งหมดด้วย จะมีประโยชน์อะไรถ้าร้านอาหารคุณขายได้แต่กำไรไม่เหลือเพราะคุณไม่รู้จักการจัดการสต๊อก และการวางระบบการจัดซื้อทำให้เกิดของเสียเป็นจำนวนมากหรือคุณจบบัญชีทำให้คุณเก่งในเรื่องการวางระบบ แต่คุณกลับไม่สามารถบริหารจัดการพนักงานได้เลยเพราะคุณไม่เข้าใจคนเหล่านี้
คำว่า ‘SMEs’ ในความหมายของผมจึงไม่ใช่ ‘Small and Medium Enterprises’ อีกต่อไป แต่มันคือ ‘SuperMan can do Everything’ คือคุณจะต้องเป็นซุปเปอร์แมนในองค์กรของคุณในการที่จะรู้และทำในทุกเรื่องๆ

 

 

7. มี Unfair advantages มั้ย
Unfair advantages คือ สิ่งที่คุณมีแล้วคู่แข่งไม่มีหรือเลียนแบบได้ยาก ซึ่งนี่แหละที่จะกลายเป็นแต้มต่อในธุรกิจทันที ซึ่งสามารถเป็นได้ในหลายเรื่องทั้งในเรื่องความเชี่ยวชาญ พาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ พื้นฐานธุรกิจที่บ้านเก่า นวัตกรรมที่คนอื่นไม่มี หรือแม้กระทั่งเงินทุนที่มากกว่า
เพราะการทำร้านอาหารในยุคนี้ไม่ได้ง่ายเหมือนยุคก่อนๆ ที่แค่คุณขยันหรือทำอาหารให้อร่อยเดี๋ยวก็ขายดีเองอีกต่อไป อะไรที่เป็นทางลัดหรือเป็นบันไดที่จะทำให้คุณเกิดและเติบโตในตลาดในอย่างรวดเร็วถือเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง
ลองถามตัวเองหรือดูสิ่งรอบๆตัวที่คุณมีแล้วเอามาคิดว่าจะเอามาใช้เป็น unfair advantages ได้บ้าง ที่จะช่วยให้คุณไม่ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ทั้งหมดเหมือนคนอื่นๆเค้า

 

 

8. เงินทุนพร้อมมั้ย
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในการทำร้านอาหารปัจจัยที่สำคัญที่สุดนอกจากเรื่องของอาหารแล้วก็คือเรื่องของเงินทุน คุณอยากจะคิดอยากจะฝันว่าอยากมีร้านแบบไหนก็ได้ แต่สุดท้ายเงินในกระเป๋าของคุณมีเพียงพอที่จะทำให้ฝันนั้นสำเร็จได้หรือไม่นั่นคืออีกเรื่องนึง
การกู้หนี้ยืมสินเพื่อมาเปิดร้านอาหารนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่แนะนำเป็นอย่างยิ่ง เติมดอกจันหลายๆ ตัวเลย จำไว้ว่าคุณมีเงินแค่ไหนก็ทำร้านในแบบที่พอเหมาะกับเงินทุนที่มาอย่าทำร้านเกินตัว
เงินทุนที่ผมหมายถึงนี้ไม่เพียงแต่เฉพาะเรื่องเงินในการจะทำให้เกิดร้านเท่านั้น แต่รวมไปถึงเงินทุนสำรองเผื่อไว้ว่ามันไม่เป็นไปตามแผนคุณด้วยแล้วจะต้องเติมเงินลงไปเพิ่มด้วยเช่นกัน ฉะนั้นอย่าลงทุนทำร้านด้วยเงินทั้งหมด 100% ไม่เช่นนั้นคุณอาจขาดสภาพคล่องทันทีจนอาจส่งผลให้ต้องปิดร้านไปในเวลาอันรวดเร็ว

 

 

9. ‘ใจ’ คุณพร้อมมั้ย
สุดท้ายสิ่งที่สำคัญที่สุดเหนือสิ่งอื่นใดนั่นก็คือ ‘ใจ’ ระหว่างทำร้านคุณจะต้องเจอปัญหาอุปสรรคที่ผ่านเข้ามาทดสอบคุณไว้เว้นวัน และบางครั้งมันจะหนักมากขึ้นเรื่อยๆ จนคุณอาจจะกลับมาถามตัวเองว่า นี่เรากำลังทำอะไรอยู่ ทำไมสิ่งที่มองเห็นภายนอกกับสิ่งที่เราเจอมันกลับตรงข้ามกันขนาดนี้
ถ้าคุณไม่ใช่คนที่ใจสู้หรือพร้อมที่จะรับกับปัญหาที่เข้ามาในทุกๆ วันแล้วละก็ อยากแนะนำว่าอย่าเข้ามาในธุรกิจนี้เลยครับ มันเป็นไปไม่ได้เลยที่ทำร้านอาหารแล้วจะไม่เจอกับปัญหา ขนาดร้านที่ใหญ่ๆ มีเป็นร้อยสาขาก็ยังเจอกับปัญหา เพียงแต่อยู่ในรูปแบบที่แตกต่างกัน
9 ข้อทั้งหมดนี่ถือเป็นเช็กลิสต์คร่าวๆ สำหรับคน อยากเปิดร้านอาหาร ให้คุณได้ลองถามตัวเองว่าคุณพร้อมเข้ามาในธุรกิจนี้แล้วจริง ๆ ใช่มั้ย ถ้ามีหลายข้อในนี้ที่คุณคิดว่าคุณอาจไม่พร้อมที่จะเจอมัน ก็ยังไม่สายที่คุณจะกลับตัวกลับใจไปทำอย่างอื่น หรือพับแพลนไว้ก่อน
แต่ถ้าคุณตอบตัวเองได้ชัดเจนว่า คุณมีคุณสมบัติทั้ง 9 ข้อนี้ หรือคุณรับมันได้ และพร้อมที่จะเจอมัน ทั้งข้อดีและข้อเสีย ผมก็ขอยินดีต้อนรับ เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ สำหรับการเป็นเจ้าของร้านอาหารมือใหม่ด้วยครับผม 😀

 

 

📌 ติดตามข่าวสารธุรกิจร้านอาหาร

Facebook : Torpenguin

Instargram : torpenguin

TikTok : torpenguin

Youtube : Torpenguin

 

📌อ่านต่อบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ทำสัญญาเช่าพื้นที่ ทำร้านอาหาร ก่อนทำต้องดูอะไรบ้าง ?

6 เรื่องสำคัญที่ต้องรู้ ก่อนเลือกแบบแปลนร้านอาหาร

ออกแบบแผนผังร้านอาหารอย่างไร ให้มีมาตรฐานและเป็นระบบ

พึ่งเริ่มทำธุรกิจ ระวัง 10 ข้อนี้ไว้ให้ดี

5 เรื่องเกี่ยวกับการทำธุรกิจ ที่ถ้ารู้แล้วแต่ยังปล่อยไว้ เละเทะแน่

มาตรฐานครัว ตามกฎกระทรวง พ.ศ. 2561 ที่ร้านอาหารต้องทำให้ถูกต้อง

เช็กลิสต์ว่าที่เจ้าของร้าน มัดรวม เรื่องที่ต้องเตรียมให้พร้อมก่อนเปิดร้าน

10 สิ่งสำคัญเกี่ยวกับการทำธุรกิจ ที่เราต้องรู้

ร้านอาหารที่ประสบความสำเร็จ เขาทำอะไรกันบ้างที่ต่างจากเรา?

เปิดร้านในตึกแถว เลือกทำเลยังไงให้โดนลูกค้าตัวจริง