GimmeTheFarm

Gimme the Farm ร้านอาหารฮาลาลลับ ๆ กับกลยุทธ์ปั้นร้านให้อยู่มากว่า 10 ปี ในทำเลที่ตาย

 

เปิดร้านลับ ๆ ยังไงให้อยู่รอดมากว่า 10 ปี ?

โดยทั่วไปธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มมักเริ่มจากการเลือกทำเล แล้วกำหนดกลุ่มเป้าหมาย แต่ในยุคที่ Social Media เข้ามาอยู่ในทุกช่วงเวลาของการใช้ชีวิต โอกาสที่ผู้คนเห็นร้านที่เปิดแบบลับ ๆ จึงไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ที่ Word of mouth เพียงอย่างเดียว แต่ยังย้ายไปเป็นในรูปแบบออนไลน์ด้วย 

เทรนด์การเปิดร้านลับ ๆ แบบไม่จำเป็นต้องพึ่งพาทำเลจึงเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น เกิดเป็นกระแสร้านลับ ที่แม้บางร้านอาจไม่ลับ แต่การห้อยท้ายก็ทำให้ผู้คนสนใจมากขึ้น แต่ใช่ว่าทุกร้านที่เปิดแบบลับ ๆ จะอยู่รอดได้ เพราะมีตัวแปรหลายอย่างมาก ๆ โดยเฉพาะการแข่งขันที่สูงขึ้น  

นั่นทำให้เราส่งสัยว่า คุณกิม – ชาญยุทธ เกษมภักดี เจ้าของร้าน Gimme the Farm ร้านอาหารฮาลาลที่เสิร์ฟอาหารฮาลาลในหน้าตาอาหารทั่วไป และเปิดในทำเลที่ตายสุดลับ บริหารร้านด้วยกลยุทธ์ไหนจึงทำให้ Gimme the Farm มีผู้คนเดินทางมาแวะเวียนเข้ามาไม่ขาด

Gimme the Farm

Start with pain (point)

จุดเริ่มต้นของ Gimme the Farm เริ่มจากการที่คุณกิมมักจะพักผ่อนจากงานประจำด้วยการดินทางไปซึมซับธรรมชาติ เมื่อไปหลาย ๆ ที่ เขาจึงเริ่มมีความคิดอยากสร้างพื้นที่สีเขียวในเมือง เขาจึงปลูกผักสลัดในบ้าน และเปิดขายแบบ Pre – order ให้กับเพื่อนร่วมงาน 

เมื่อเสียงตอบรับดี เขาจึงเริ่มพัฒนาเมนูอาหารมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วเปิดเป็นร้านอาหารให้ลูกค้าเข้ามาสัมผัสประสบการณ์การทานแบบใกล้ชิดแปลงผัดสลัดที่ตนกำลังทานอยู่ แน่นอนว่าการทำแบบนี้เมื่อ 10 ปีที่แล้วเป็นไอเดียที่ใหม่มาก

แต่อีกส่วนสำคัญที่เหนือไปกว่านั้น คุณกิมมีเป้าหมายในการเปิดร้านเพื่อแก้ Pain point ของอาหารฮาลาล

Gimme the Farm

“ความหลากหลายของเมนูฮาลาลยังมีไม่มาก และวนเวียนอยู่ที่เดิม ในขณะที่อาหารของคนทั่วไปมีตัวเลือกเยอะมาก เช่น ข้าวหมูแดง ข้าวขาหมู เราก็อยากทานด้วยเช่นกัน จึงพัฒนาเมนูโดยใช้วัตถุดิบแบบฮาลาล มาทำให้เป็นเมนูแบบคนทั่วไป”

นั่นทำให้ Gimme the Farm เสิร์ฟบะหมี่เนื้อแดง ในรูปแบบบะหมี่หมูแดง รวมถึงข้าวขาเนื้อ ในหน้าตาข้าวขาหมู ซึ่งหากไม่บอก ก็แทบจะแยกไม่ออกเลยว่าใช้วัตถุดิบและส่วนผสมแบบฮาลาล  

Gimme the Farm

Experience is king 

เพราะ Gimme the Farm เป็นร้านอาหารฮาลาลแบบลับ ๆ ชนิดที่หากไม่เปิด Google Map ควบคู่ ก็อาจมาไม่ถึง คุณกิมจึงมองว่า 

“การเปิดร้านลับ ๆ เราต้องมี Unique selling Point ที่ไม่ว่าทางจะลำบากแค่ไหนก็อยากมาทาน มาลองสักครั้ง และต้องตอบให้ได้ว่าทำไมลูกค้าต้องมาที่นี่ ต้องสร้างมาตรฐานให้คงที่เพื่อจะทำให้ลูกค้าติดใจ” 

“เพราะหัวใจสำคัญของการเป็นร้านลับ คือการทำให้ลูกค้าอยากกลับมา และการทำให้ลูกค้าอยากบอกต่อร้านของเรา”   

“ถัดมาเป็นการพัฒนา Product อยู่ตลอดเวลา ออกเมนูใหม่ที่ทำให้ลูกค้าว้าวอยู่เสมอ ส่วนตัวเราก็เป็นลูกค้าร้านตัวเองอยู่แล้วว่าเราอยากทานอันนี้ แต่เราทานไม่ได้ เราลองมาปรับสูตรให้มุสลิมทานได้ แต่ว่ารสชาติยังถูกปากคนทั่วไปด้วย” 

ปัจจุบันนี้ลูกค้าไม่ได้มองหาความอร่อยเพียงอย่างเดียว แต่มองหาประสบการณ์ (Experience) บางอย่างควบคู่ไปด้วย สำหรับ Gimme the Farm ประสบการณ์ของลูกค้าเริ่มต้นตั้งแต่การเดินทางมาที่ร้าน ที่ต้องลัดเลาะเข้ามาในซอยแคบ ๆ 

หรือหากมาอีกด้าน ฝั่งทางเข้าด้านหน้าเป็นอาคารธรรมดา แต่หากเข้ามาด้านใน เราจะได้เจอกับร้านอาหารที่ใช้บ้านสองชั้นมา Renovate จนมีบรรยากาศอุ่น ๆ สไตล์โฮมมี่ให้กับผู้แวะเวียน

Gimme the Farmคุณกิมเล่าว่า Gimme the Farm ตั้งใจเป็นร้านที่ให้ผู้คนมาใช้เวลาร่วมกัน ตั้งแต่การใช้เวลาร่วมกับกลุ่มเพื่อน ใช่เวลาร่วมกันกับครอบครัว คนรัก ตลอด 10 ปี เขาเห็นภาพผู้คนที่แวะเวียนเข้ามามากมาย บางคนเมื่อก่อนยังใส่ชุดนักเรียน ตอนนี้กลับมาพร้อมกับครอบครัวแล้ว 

“ความสุขในการทำร้านของเรามันคือการที่เราเสิร์ฟแล้วลูกค้าชมว่าอร่อย ได้เห็นพนักงานทำงานในบรรยากาศดี ๆ มันเป็นกำลังใจของเราอย่างหนึ่งนะ” คุณกิมพูดด้วยรอยยิ้ม 

Gimme the Farm 

แม้ตอนนี้ Gimme the Farm จะยกฟาร์มไปไว้ที่พระราม 2 เนื่องจากจำเป็นต้องใช้พื้นที่มากขึ้นในการปลูก แต่ที่นี่ก็ยังคงบรรยากาศแบบธรรมชาติ ที่มีสีน้ำตาล และสีเขียวแซมอยู่ในทุกจุดที่สายตาทอดมอง 

หากพนักงานประจำอยากเริ่มทำร้านอาหาร คำแนะนำอะไรที่เราอยากบอกกับพวกเขา – เราถาม

“บางทีคนเราจะทำอะไรมันเป็นเป้าหมาย 90% ดวง 10% อย่างเราโชคดีที่เปิดที่บ้านได้

“สำหรับคนที่ทำงานประจำแล้วอยากออกมาเปิดร้านอาหาร เราแนะนำให้ทำงานประจำควบคู่ไปด้วยเพื่อประเมินศักยภาพของธุรกิจ แต่มันจะเหนื่อยมากเพราะต้องใช้สมอง 2 ส่วน ต้องคิดงานที่ร้าน และต้องคิดงานที่ออฟฟิศ 

“แต่เดี๋ยวมันจะเห็นผลครับ”

Gimme the Farm

📌 ติดตามข่าวสารธุรกิจร้านอาหาร

Facebook : Torpenguin
Instargram : torpenguin
TikTok : torpenguin
Youtube : Torpenguin

 

📌 อ่านต่อบทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

รู้งี้ Slowbar กับการทำ TikTok ยังไงให้คนตามไปกิน แม้ทำเลเข้าถึงยาก

หมูสองชั้น ความสำเร็จจากเชียงใหม่ กับการเป็นผู้เล่นใหม่ในกรุงเทพ ฯ บนทำเลสุดหิน

กู่หลงเปา ซาลาเปาสูตร 100 ปี กับการปรับโมเดลธุรกิจให้ร่วมสมัย ที่มีลูกค้าเป็นหัวใจสำคัญ

ปั้นลี่เบเกอรี่ ร้านขนมอายุ 70 ปี ที่ขอมีแค่ 1 สาขาตลอดไป

kintaam : ร้านไอศกรีมแซนด์วิชที่มีส่วนผสมหลักเป็นความ Creativity กับเบื้องหลังรสชาติที่ครบรสความสนุกในทุก ๆ คำ