PAAK

PAAK แบรนด์ Juice Bar ที่อยากตะโกนบอกทุกคนว่า ‘น้ำผัก’ ก็ดื่มให้สนุกได้ แม้ไม่ชอบผัก

ผัก ผลไม้ สนุกหน้าตาเป็นยังไง?

สารภาพก่อนเลยว่าเราคือหนึ่งในกลุ่มคนที่ไม่ทานผัก และไม่เคยจินตนาการมาก่อนว่า ‘ผักผลไม้’ จะเป็นเมนูที่ให้ความรู้สึกสนุกได้

แต่หลังจากได้เจอร้านผักดี ๆ เราก็ได้รู้ว่า ‘ผักอร่อย’ มีอยู่บนโลก และผักอร่อยในวันนั้น ก็เปลี่ยนให้เราค่อย ๆ เปิดใจทานผักมากขึ้น จนได้เจอกับ ‘PAAK’ บาร์น้ำผักผลไม้ที่ตั้งใจออกแบบเมนูผักผลไม้ให้ดื่มง่าย ดื่มได้แม้ไม่ชอบผัก คู่กับแนวคิดที่อยากตะโกนบอกทุกคนว่า ‘น้ำผัก’ ก็ดื่มให้สนุกได้

โอกาสดีที่เราได้พูดคุยกับ คุณนิค – หนึ่งในสมาชิกผู้ร่วมปลุกปั้นแบรนด์ ตั้งแต่สาขาแรกที่ The Commons ศาลาแดง จนเติบใหญ่เข้าไปอยู่ใน Gourmet Market สาขา เอ็มควอเทียร์ เอ็มโพเรียม และเอ็มสเฟียร์

คุณนิคเล่าให้เราฟังว่า นอกจากความตั้งใจที่อยากให้ ‘ผักผลไม้สนุก ดื่มง่ายกับคนทุกกลุ่ม’ อีกหนึ่งความมุ่งมั่นที่พวกเขาตั้งเป้าไว้ตั้งแต่เริ่มทำแบรนด์ คือการเพิ่มมูลค่าให้ผักไทย ด้วยการผลักดันผักไทยไปอยู่ตามหัวเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก และนั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของบทสนทนาในบทความนี้

PAAK

SEEDING

“เป้าหมายของเรา คือการส่งแบรนด์ PAAK ไปทั่วโลก” – คุณนิก

เราเชื่อว่าหลายคนเปิดร้านเพราะอยากให้คุณภาพชีวิตของเรา และคนรอบข้างดีขึ้น ดังนั้นนอกจากความภาคภูมิในวันที่ท้องอิ่ม วันที่เราได้เห็นภาพกิจการค่อย ๆ โตขึ้นอีกก้าว จึงเป็นอีกหนึ่งวันที่เรามีความสุขมาก ๆ

สำหรับเป้าหมายแรกของพวกเขาตั้งแต่ยังไม่เปิดร้านคือการส่งแบรนด์ไประดับโลก การตั้งชื่อร้านจึงได้ใส่ความต้องการที่จะนำเสนอผักไทยไว้ตั้งแต่เริ่ม คุณปุยนุ่นผู้ร่วมก่อตั้งอีกท่านบอกกับเราว่า

“กว่าจะมาเป็นชื่อ PAAK พวกเราเลือกจากร้อยกว่าชื่อ และเลือกชื่อที่สื่อถึงผักไทยมากที่สุด เรามองไปถึงอนาคตว่าวันหนึ่งที่แบรนด์ของเราสามารถไปอยู่ตามหัวมุมในเมืองต่าง ๆ รอบโลก แล้วคนสงสัยว่า PAAK มาจากอะไร เราจะสามารถเล่าได้ว่ามาจากคำว่า Vegetable ที่แปลว่าผักในประเทศไทย”

“เป็นชื่อที่ค่อนข้างจะสั้น แล้วคนอาจไม่จดจำในตอนแรก แต่เรามองว่า ‘ผัก’ มันแข็งแรงในตัวมัน เป็นคำธรรมดาที่ค่อนข้างดี และตอบโจทย์ในเรื่องของแบรนด์ดิ้งด้วย” – คุณนิกเสริม

PAAK

หากเทียบกับ 6 ปีก่อน ที่ผู้คนยังไม่เปิดใจให้กับน้ำผักสกัดเย็น พวกเขาค่อย ๆ เติบโตทีละก้าว ไปพร้อมกับก่อร่างสร้างฐานธุรกิจให้มั่นคง ผ่านการพัฒนาสินค้า พัฒนาแบรนด์ ควบคู่กับการให้ความเข้าใจลูกค้าในสินค้าของพวกเขา ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ภาพความเป็นไปได้ในการส่งแบรนด์ไปอยู่ตามมุมต่าง ๆ ของโลก ค่อย ๆ ชัดขึ้น

“การทำธุรกิจกับกลุ่ม Niche Market เราต้องมีความอดทน เพราะว่าสินค้าของเรามันไม่ใช่สินค้าที่คนจะทานตลอด และไม่หวือหวาเหมือนสินค้าทั่วไป ๆ การที่จะเปิดใจลูกค้าได้นั้น

  1. คุณภาพสินค้าต้องดี
  2. ต้องรักในสิ่งที่ทำควบคู่ไปด้วย
  3. ต้องปรับปรุงและพัฒนากิจการทุกวัน ต้องหวงแหนแบรนด์ ควบคู่ไปกับการรักษาคุณภาพของสินค้า

PAAK

YOUTHFUL

ทุกธุรกิจมีช่วงเวลาที่ต้องเจอกับวิกฤต หรือความสุ่มเสี่ยงที่อาจทำให้ธุรกิจล้มหายตายจาก ความสามารถในการเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส จึงเป็นอีกหนึ่งทักษะสำคัญของทุกองค์กร ถ้าผู้ประกอบการไม่มีทักษะนี้ อย่างน้อยคนในองค์กรต้องมี

โควิด -19 เป็นวิกฤตที่ทั่วโลกเผชิญในปี 2019 – 2023 และยังฝากรอยแผลไว้จนถึงตอนนี้ แบรนด์ PAAK เองก็ยกให้เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่สุ่มเสี่ยงกับแบรนด์มากที่สุด เพราะในตอนนั้นเป็นช่วงที่แบรนด์ยังไม่เป็นที่รู้จัก ลูกค้าไม่เคยชิม และยังอยู่ในช่วงเวลาที่เขาต้องทำให้ลูกค้าเปิดใจ

“พอมีปัญหาเรื่องล็อกดาวน์ขึ้นมาแล้วไม่สามารถเปิดหน้าร้านได้ เราก็ไปทำ Delivery Channel เพื่อเพิ่มฐานลูกค้าตรงกลุ่ม Delivery พร้อมกับออกสินค้าตัวใหม่ชื่อว่า Immunity Series ที่มีการใช้ผักและส่วนผสมเป็นสมุนไพรไทย ตอบโจทย์ความต้องการสินค้าสำหรับเยี่ยมผู้ป่วยโควิด”

PAAK

นอกจากสินค้าคุณภาพที่ตอบโจทย์ความต้องการ ยังคำนึงถึง Brand Value ด้วยการออกแบบแพคเกจจิ้งเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับแบรนด์ไปในตัว

“การที่ลูกค้าถือสินค้าเซ็ทนี้ของแบรนด์ออกไป จะทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น แพคเกจจิ้งของเราจะทำหน้าที่ในการสื่อสารว่าแบรนด์นี้ดีนะ แบรนด์นี้รักโลกนะ หรือว่าแบรนด์นี้มีคุณภาพดีนะ กลายเป็น Organic Marketing ที่เราไม่ต้องใช้เงินในการสร้างโฆษณา”

GROWING

ก่อนมาที่นี่เราไม่เคยจินตนาการว่า ‘ผัก’ จะสามารถสร้างสรรค์เมนูสนุก ๆ ได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น น้ำผักต้มยำ บิงซูผัก ไอศกรีมผัก สมูทตี้โบวล์หรือแม้แต่ค็อกเทลที่มาจากผัก เรียกได้ว่าถ้าใครอยากทานผัก แล้วเบื่อเมนูซ้ำซาก การเปลี่ยนมูดมาที่ PAAK จะไม่ทำให้ผิดหวังแน่นอน

เราจะมั่นใจได้ยังไงว่าสินค้าที่เราตั้งใจทำ ใช้เวลาทุ่มเทกับมันมานาน เมื่อนำไปขายแล้วลูกค้าจะชอบ – เราสงสัย

“เราต้องฟังคนให้มากที่สุด ตอนที่พัฒนาสูตรเราจะมี Focus Group หลาย ๆ คน เพื่อว่าดูว่าสินค้าไหนที่สามารถนำไปวางในตลาดได้ สิ่งสำคัญคือรับการรับคำแนะนำของลูกค้า ไม่มีสินค้าไหนออกมาแบบ 100% เต็มแล้วขายได้เลย เราต้องนำทุกอย่างมาปรับปรุง”

PAAK

นอกจากจะโดดเด่นเรื่องเมนู ที่นี้ยังโดดเด่นในการวางระบบร้าน คุณนิคเล่าให้เราฟังว่าร้านแต่ละสาขามีการวางระบบและการบริการไปจนถึงการวางกลยุทธ์สินค้าที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับทำเลและพฤติกรรมของลูกค้า

“เหมือนการสร้างระบบใหม่สำหรับพื้นที่นั้น ๆ เลย ระบบในการวางคนก็มีความแตกต่างกัน เราต้องสร้างระบบที่เหมาะกับสาขานั้น ๆ อย่างสถานที่ เอ็มควอเทียร์ เอ็มโพเรียม เราอยู่ใน Gourmet Market สินค้าจะต้องทำแบบ DIY Product โดยลูกค้าจะเลือกด้วยตัวเอง แล้วเราทำหน้าที่ประกอบให้ เช่น ตอนที่ลูกค้ามาเราเลือกแอปเปิลสด ๆ กับ ขึ้นฉ่าย ทำด้วยกัน”

BLOOM

ทั้งหมดนี้ทำให้เราหมดข้อข้องใจว่าทำไมแบรนด์ PAAK ถึงเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ลูกค้ารักอย่างเหนียวแน่นมาตลอดหลายปี

คุณนิคได้ฝากถึงลูกค้าของ PAAK กับเราเอาไว้ว่า “ขอบคุณที่ซัพพอร์ตเรา บางคนก็ซัพพอร์ตตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ เราเปิดมาประมาณ 4 ปีแล้ว ลูกค้ากลุ่มเดิมหรือว่าลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ ที่เข้ามา เราจะทำคุณภาพของ สินค้าให้ดีที่สุด แล้วเราก็จะต่อยอดไปเรื่อย ๆ ฝากทุกคนช่วยกันซัพพอร์ต่อไปด้วยนะครับ”

สุดท้ายแล้วไม่ว่าเป้าหมายจะเล็กหรือใหญ่ วิธีการไปให้ถึงต่างหากที่เป็นเรื่องสำคัญ คนญี่ปุ่นใช้วิธีย่อยเป้าหมายขนาดใหญ่ให้เป็นขั้นบันไดแล้วค่อย ๆ ไต่ขึ้นไป เพื่อไม่ให้รู้สึกท้อหรือยอมแพ้ระหว่างทาง

แต่สำหรับใครที่กำลังท้อกับปัญหา เราอาจเริ่มต้นจากการจัดลำดับความสำคัญ แล้วเริ่มแก้ไปทีละจุดตามความเร่งด่วน เราเชื่อว่าทุกคนมีความเป็นนักสู้อยู่ในตัว และขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนครับ

PAAK

 

📌 ติดตามข่าวสารธุรกิจร้านอาหาร

Facebook : Torpenguin
Instargram : torpenguin
TikTok : torpenguin
Youtube : Torpenguin

📌 อ่านต่อบทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

บ้านเฮง แบรนด์กุนเชียง ที่ใช้ธุรกิจร้านอาหารผลักดันกิจการโต 100% ด้วยงบการตลาดต่อปีไม่ถึง 1%
บริหารร้านฉบับตั้งใจไม่บังเอิญของเชฟไอ กับการทำร้านนิยมปักษ์ใต้ ที่มี ‘I LOVE PASTA & RISOTTO’ ซ่อนตัวอยู่ข้างใน
Khiri Thai Tea ร้านชาไทย ที่ตั้งใจส่งมอบเอกลักษณ์ของชาท้องถิ่นในไทย
ร้าน Henryfry ความกรุบกรอบพิถีพิถัน ที่ต้องรอนานหน่อยนะ
เนื้อแคมป์ไฟ ร้านอาหารที่เกิดจาก Passion ของเด็กอายุ 11 ขวบ
Matsu Sushi จากซัพพลายเออร์ สู่เจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่นในอีสาน
ถอดความสำเร็จ ผัดไทยหมี่กรอบ เจ้าแรกของไทย ร้านแม่ทุมผัดไทยเข่ง
ถอดความสำเร็จ The Bridge Bistro & Office Space เปิดคาเฟ่ชานเมืองให้ดึงดูดลูกค้า
ถอดบทเรียน พี่เขียวข้าวเหนียวห่อ ทำคอนเทนต์ยังไงให้ปังบน TikTok