Kintaam
kintaam : ร้านไอศกรีมแซนด์วิชที่มีส่วนผสมหลักเป็นความ Creativity กับเบื้องหลังรสชาติที่มีครบรสทั้งความสนุก และความหมายสอดแทรกอยู่ในทุก ๆ คำ

 

“โจทย์สุดหินของการเริ่มต้นธุรกิจในยุคนี้ไม่ได้มีเพียงการทำ Product ให้แข็งแรงเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการสร้างความแตกต่างเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย 

วันนี้ เรามีโอกาสได้พูดคุยกับเจ้าของแบรนด์ไอศกรีมแซนด์วิชที่เก่งเรื่องการสร้างความแตกต่างด้วยการใช้ความคิดสร้างสรรค์ และไอเดียเบื้องหลังแบบจัดเต็ม เธอทั้งสองเปลี่ยนโปรเจกต์เล็ก ๆ ที่เริ่มจากการเปิด Pre – order บน Instagram มาเป็น Pop – Up ครั้งแรกในงาน Bangkok design week และเป็นร้านแบบจริงจังที่เชียงใหม่ ก่อนจะขยายสาขาเข้ามาที่กรุงเทพ ฯ ในเวลาต่อมา 

“จากขายออนไลน์ตั้งแต่แรกแล้วยังไม่เห็นหน้าตาลูกค้าเลย การไปออกอีเวนต์แล้วได้เจอกันกับลูกค้า ได้เห็นว่าทุกคนมาต่อแถว ทุกคนแฮปปี้ เราก็รู้สึกว่าเป็นจุดที่มันต้องจริงจังแล้ว” 

ใช่แล้ว แบรนด์ไอศกรีมที่เรากำลังพูดถึง ก็คือ kintaam (กินตาม) นั่นเอง   

kintaam

kintaam Ice Cream sandwich & Joy

ไม่ว่าใครก็ต้องตกหลุมรัก kintaam เมื่อได้ลิ้มลองไอศกรีมตามอัธยาศัยของที่นี่ แต่ช้าก่อน แม้จะบอกว่าเป็นไอศกรีมตามอัธยาศัย แต่ kintaam จะเสิร์ฟเฉพาะไอศกรีมแซนด์วิชเท่านั้น ส่วนคำว่าตามอัธยาศัยคือการที่เราสามารถเลือกรสชาติได้ถึง 14  รส พร้อมกันก็ยังสามารถเลือกบิสกิต และเครื่องเคียงได้แบบไม่กักวัตถุดิบ ในราคา 75 บาทราคาเดียว 

ที่นี่ นอกจากคนกินจะเลือกซื้อได้ตามอัธยาศัย คุณน้ำอบ – และคุณน้ำทิพย์ ไชยจินดา สองพี่น้องผู้ปลุกปั้นแบรนด์ kintaam ยังออกแบบรสชาติ คอนเซ็ปต์ และไอเดียเบื้องหลังตามอัธยาศัยในเรื่องที่พวกเขาอยากสื่อสาร แต่มีข้อแม้ว่าก่อนจะนำไอศกรีมมาวางจำหน่าย ‘ทุกรส’ ‘ทุกไอเดีย’ และ ‘คอนเซ็ปต์’ ที่ออกมาจะต้องเป็นสิ่งอย่างที่เธอทั้งสองรู้สึกใจเต้นจนต้องพูดว่า ‘ฉันอยากซื้อ!’  

“กินตามมันจะกินตามอัธยาศัย เวลาเราจะทำอะไร มันก็เลยเหมือนต้องตามอัธยาศัยที่เราอยากทำ อยากจะพูดประเด็นนี้ก็ทำออกมา ถ้าเรารู้สึกอยาก มันก็จะออกมาเอง” 

kintaamหนึ่งในประเด็นน่าสนใจที่กินตามหยิบมาเล่าผ่านไอศกรีมของพวกเขา คือการหยิบปัญหาฝุ่น PM 2.5 มา Create เป็นเมนู corn smog ice cream crunch โดยใช้ข้าวโพดมาแทนการเผาไร่ และใช้คอนเฟลกมาเป็นภาพจำของโรงงานอุตสาหกรรม ก่อนจะตบด้วยคาราเมลซึ่งเปรียบได้กับฝุ่นที่ปกคลุมเชียงใหม่ เพื่อสื่อสารว่า ‘เชียงใหม่ยังคงเผชิญกับวิกฤตจากฝุ่น PM 2.5 อยู่’ 

“บ้านเราอยู่ที่เชียงใหม่ พอกลับไปที่บ้าน วินาทีที่ลงจากสนามบินมันคือฝุ่น” – คุณน้ำทิพย์ 

“มันอาจจะไม่ได้ช่วยส่งให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ทันที แต่มันเป็นเหมือนการ Call out ออกมาว่า เรามีปัญหานี้เกิดขึ้น เรารู้สึกกับสิ่งนี้ ทุกคนอย่าลืมว่าเราอยู่ท่ามกลางวิกฤต ในฐานะที่เป็นร้านไอติมก็เลยรู้สึกว่า อยากออกรสชาติที่ให้คนรู้สึกว่ามันมีปัญหานี้จริง ๆ ที่เชียงใหม่ 

“เรามองว่าไม่จำเป็นต้องเป็นสื่อเท่านั้นถึงจะส่ง message ได้ ทุกคนในสังคมสามารถพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ในแง่มุมของตัวเอง เพราะสุดท้ายมันเป็นอากาศที่ทุกคนหายใจร่วมกัน” – คุณน้ำอบเสริม 

นอกจากเมนู corn smog ice cream crunch ที่เล่าเรื่องฝุ่น ทุกเมนูของกินตามล้วนมีคอนเซ็ปต์ และเรื่องราวสอดแทรกอยู่ในทุก ๆ ส่วน เช่น Chocolate Cookie ใช้คุกกี้ที่แตกจากการขนส่งมาเป็นส่วนผสมของเมนู เพื่อลด Waste หรือจะเป็นเมนูข้าวปุกงา ที่ใช้ข้าวเหนียวดำมาตำ แล้วคลุกกับงาขี้ม่อน ซึ่งจะเป็นเมนูพิเศษเฉพาะเทศกาลเก็บเกี่ยว

kintaam

Find our ‘kintaam’

kintaam นอกจากการเป็นร้านไอศกรีม อีกด้าน พวกเขารับบทเป็น Creative Studio ที่คอยรังสรรค์เมนูไอศกรีมแซนด์วิชที่มีคอนเซ็ปต์สนุก ๆ ตามโจทย์ที่ได้รับ และได้ร่วมงานกับแบรนด์ต่าง ๆ มากมายตั้งแต่งานเล็ก ๆ อย่างการจัดงานแต่งงาน ร้านคาเฟ่ จนถึงการร่วมงานกับแบรนด์ใหญ่ เช่น SEPHORA, SOHO HOUSE Bangkok , Curaprox และอื่น ๆ อีกมากมาย 

“การคอลแลปมันทำให้เราเห็นตัวเราชัดขึ้นในทุก ๆ วัน ถ้านับจาก Day 1 ที่เราเริ่มทำโปรเจกต์ จนถึงตอนนี้ มันทำให้เราเห็นว่าจุดแข็งเราคืออะไร แล้วเราก็จะขยี้จุดแข็งอันนั้นของเรา อะไรที่ไม่ใช่ก็อาจจะยังไม่ให้ความสำคัญมาก 

“เหมือนวันที่เราเริ่ม เราทำไอศกรีมแล้วมีคอนเซ็ปต์เป็นเรื่องที่เราอยากพูดมาจับ แต่พอมีคนที่รู้สึกว่าสิ่งนี้มันน่าสนุก มันต่อยอดเป็นอะไรได้อีกเยอะ แล้วเขาโยนโจทย์มา พอเราทำไปเรื่อย ๆ ตัวตนเราก็ยิ่งชัดขึ้นว่านี่แหละ คือเรา” 

kintaamคุณน้ำอบ และคุณน้ำทิพย์ยังเล่าให้เราฟังอีกว่า เทคนิคการสร้างแบรนด์ในแบบของกินตามเองก็ยึดมั่นในแบบฉบับตามอัธยาศัยและไม่ได้มี Structure แบบตายตัว แต่จะใช้วิธีกำหนดกรอบคร่าว ๆ ว่า Value ของแบรนด์และสินค้าคืออะไร จากนั้นจึงค่อยใส่ภาพของ Value เข้าไปในองค์ประกอบต่าง ๆ  

“อะไรเป็นสิ่งที่เราต้อง Keep ไว้ เช่น เป็นไอศกรีมแซนด์วิชเท่านั้น หลังจากนั้นมันจะมีส่วนที่เล่นสนุกได้ มันถึงจะ Engage กับลูกค้าและคนที่สนใจ”  

ในท้ายที่สุด หากตัดไอเดียเบื้องหลังออก และมอง kintaam เป็นไอศกรีมแซนด์วิชธรรมดา คุณค่าของ kintaam ก็ยังสามารถส่งผ่านสัมผัสเย็น ๆ ของไอศกรีมมาเป็นรสชาติที่นุ่มนวล ด้วยวัตถุดิบที่คุณน้ำทิพย์พยายามซื้อโดยตรงจากเกษตรกร เพื่อกระจายรายได้ไปยังกลุ่มคนตัวเล็กให้มากที่สุด 

หรือจะด้วยความตั้งใจในการส่งต่อความรู้สึกสนุก ๆ ที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกใจเต้นทุกครั้งที่ได้ Create ไอศกรีมแซนด์วิชฉบับ ‘ตามอัธยาศัย’ ของตัวเอง  

kintaam

The Corner of mindset 

ถ้า ‘กินตาม’ เป็นคน รสชาติไหนที่เป็นกินตามมากที่สุด ?
“กินตามไม่ได้มีรสชาติที่ตายตัว แต่จะยังคงเป็นไอศกรีมแซนด์วิช

“พอเรามาทำร้านไอศกรีม เราก็จะมองไอติมเป็นเรื่องของ Time based อย่างเราตั้งไอติมทิ้งไว้ มันก็จะละลายไปตามเวลา เราเลยรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ทำให้เห็นคุณค่าของเวลา มันคือโมเมนต์หนึ่งในการที่ไอติมละลาย

“เราเลยมองว่า กินตามมันมีเวลาของมันอยู่ สักวันมันก็จะเปลี่ยนและละลายไปตามกาลเวลา” 

คำแนะนำอะไรที่อยากฝากถึงคนมีฝันเป็นการเปิดร้านอาหาร เครื่องดื่ม จนถึงไอศกรีม

คุณน้ำทิพย์ : “ตอนเราเริ่มเรารู้สึกว่าตัวเองรู้น้อยมาก เลยรู้สึกว่าน่าจะเริ่มง่ายถ้ารู้น้อยในเชิงที่ต้องไปฝึกฝน เพราะถ้ารู้ทุกอย่างเยอะอาจจะกลัว 

“แต่ให้ชัดเจนไว้ว่าเราคือใคร พอเราชัดเจน และมั่นใจว่ามันจะออกมาดี เรื่องอื่นเดี๋ยวค่อยไปรู้ทีหลังแน่นอน เพราะมันจะมีประสบการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นเสมอ”

kintaam

คุณน้ำอบ : “หรือแม้กระทั่งทำไปมันมีปัญหาอยู่แล้วตั้งแต่ตอนต้น แต่ว่าเราจะไม่จมกับปัญหานั้น จะแก้ไขปัญหาไปเป็นข้อ ๆ เท่าที่จะแก้ได้

“การทำงาน มันมีทั้งปัญหาที่แก้ได้ใน 1 ชั่วโมง แก้ได้ใน 1 วัน 1 เดือน จนถึง 1 ปี ถึงจะแก้ได้ก็มี สิ่งสำคัญคืออย่าเอาตัวเองไปจมจ่อมกับปัญหานั้น ๆ นาน เราควรเอาพลังงานของเราไปลงทุนกับสิ่งที่มันได้ประโยชน์ และคุ้มค่ากับเรา.. ความรักก็เช่นกันค่ะ – หัวเราะ 

kintaam

อยากให้รีวิวกันและกัน 

คุณน้ำอบ : “น้ำทิพย์เขาจะมีความเป็น Perfectionist เรารู้ว่าเขายืดหยุ่นเรื่องไหน แล้วข้อที่เขาจะไม่ประนีประนอมมันมีอะไรบ้าง ซึ่งเราจะไม่ทำสิ่งนั้นให้มันเกิด Conflict เหมือนอะไรที่เขาเป๊ะก็อย่าพยายามไป Break the rule ของเขา (หัวเราะ)  

คุณน้ำทิพย์ : มันคือความยากระหว่างทำงานกับพี่น้อง เพราะการทำงานร่วมกัน มันต้องเท่ากัน 

แต่ไม่มีคำชมเลยหรอ? 

คุณน้ำอบ : ก็ชมว่า Perfectionist ไง – หัวเราะ

คุณน้ำทิพย์ : พี่จะเป็นเรื่องการติดต่อประสานงาน ทุกวันจะมีคนติดต่อเข้ามาเยอะมาก เช่น ติดต่องานคอลแลป ติดต่อโน่นนี่ พี่อบเขาจะสามารถเป็นคนที่เหมือน Google ที่ใครโยนอะไรมาแล้วจะตอบได้ 

คือถ้าโทรมาหาเราจะอันนี้ไม่แน่ใจ แล้วพอเราไม่เหมือนกัน มันทำงานร่วมกันสกิลมันเก่งคนละด้าน แล้วซัพพอร์ตกัน ใครขาด ใครเติมตรงไหน เรารู้สึกเหมือนกันว่า ปัญหาอะไรบางอย่างถ้าเราเจอมันคนเดียวเราทำไม่ไหว เราตายแน่ แต่พอมีคนมาแชร์เราก็รู้สึกว่าการผ่านอะไรที่มีคนมาแชร์มันดีกว่าเยอะ 

แต่ฉันไม่ใช่ Perfectionist นะ – หันไปมองคุณน้ำอบ

kintaamคุณน้ำอบ : เธอเป็น Perfectionist

คุณน้ำทิพย์ : ไม่

คุณน้ำอบ : แต่ว่าเธอ Evo (Evolution) มาแล้ว 

คุณน้ำทิพย์ : ใช่ – ทั้งคู่สบตากัน ก่อนจะหัวเราะพร้อมกัน 

kintaam

 

📌 ติดตามข่าวสารธุรกิจร้านอาหาร

Facebook : Torpenguin
Instargram : torpenguin
TikTok : torpenguin
Youtube : Torpenguin

 

📌 อ่านต่อบทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

‘เจดีย์’ คาเฟ่ที่ตั้งใจเป็น Healing Space กับการจัดสรรพื้นที่ทุกสัดส่วนให้สร้างรายได้

ยักษ์กะโจน ร้านอาหารที่ชวนคนกินมาร่วมแก้ปัญหาสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน

สุดฤทธิ์น่าน ร้านกาแฟที่ตั้งใจผลักดันกาแฟมณีพฤกษ์จากน่าน ให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก

Fishmonger ร้านฟิชแอนด์ชิพ ที่เชื่อมคนเมือง กับ ประมงท้องถิ่น ผ่านปลาไทย

บริหารร้านฉบับตั้งใจไม่บังเอิญของเชฟไอ กับการทำร้านนิยมปักษ์ใต้ ที่มี ‘I LOVE PASTA & RISOTTO’ ซ่อนตัวอยู่ข้างใน