ตลาดพลู ย่านชุมชนเก่าแก่ที่เริ่มตั้งรกรากตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี และรัตนโกสินตอนต้น ในอดีตย่านแห่งนี้เคยเป็นพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างหมาก และพลู ดำเนินมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อรถไฟสายท่าจีนมหาชัย ตัดผ่านมาถึงปากคลองสาน เพื่อขนส่งสินค้าประมง อาหารทะเล ของกินของใช้เข้ามาในกรุงเทพ ฯ ย่านตลาดพลูจึงเข้าสู่ยุคของการเป็นย่านการค้าที่สำคัญจนถึงปี พ.ศ. 2500
นอกจากประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ที่นี่ยังเป็นจุดเชื่อมของพหุวัฒนธรรมหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา ฉะนั้นเมื่อมาเยือนที่นี่ เราจะเห็นความหลากหลายในส่วนนี้สอดแทรกผ่านอาหาร อาคารบ้านเรือน จนถึงงานศิลปะและงานคาร์ฟที่กระจัดกระจายอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ในย่าน
คุณมนตรี ศิริกัณฑ์ จึงก่อตั้ง ‘ประชาคาเฟ่’ ขึ้นมาภายใต้ความตั้งใจในการรวบรวมของดีย่านตลาดพลูทั้งหมดมาไว้ในร้าน ให้คนได้เรียนรู้ และรู้จักตลาดพลูมากขึ้น ได้เห็น Hidden ที่ซ่อนอยู่ในจุดต่าง ๆ ของย่าน ก่อนที่จะออกสำรวจย่านตลาดพลูด้วยตัวเอง
“เราตั้งใจให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ของย่านตลาดพลู ใครมาเที่ยวก็จะได้เห็นว่ามีอะไรบ้าง และย่านตลาดพลูมีของดีอยู่ตรงไหนบ้าง”
ประชากับการเป็นพื้นที่บอกเล่าเรื่องราวของตลาดพลู
ก่อนตึกนี้จะถูกเปลี่ยนเป็นประชาคาเฟ่ ที่นี่เคยเป็นที่ตั้งของโรงพิมพ์เก่าแก่ในย่านตลาดพลู ‘โรงพิมพ์แสงประชา’ ซึ่งเลิกกิจการไปในช่วงที่โควิด – 19 เข้ามา
“ประชา มาจากชื่อของคุณปู่ แต่ก่อนที่นี่เป็นโรงพิมพ์เก่าน่าจะอายุราว ๆ 70 ปีแล้ว ก่อตั้งและส่งต่อรุ่นสู่รุ่นจนมาถึงรุ่นเรา และปิดตัวลงในช่วงโควิด – 19 ที่ผ่านมา เพื่อไม่ทิ้งตึกไว้เฉย ๆ ให้มันร้าง เราเลยอยากทำ Community Space เพื่อให้คนได้รู้จักตลาดพลูมากขึ้น”
ด้วยเสน่ห์ของความเป็นตึกเก่า บวกกับร่องรอยกว่า 100 ปี ของตัวอาคาร ทำให้ที่นี่ถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งในการจัดงาน Bangkok Design Week ทำหน้าที่เล่าเสน่ห์ของย่านตลาดพลูและจัดกิจกรรม จากนั้นคุณมนตรีจึงตัดสินใจเปิดคาเฟ่ขึ้นมาอย่างจริงจังในเวลาต่อมา
“ตอนแรกที่เราคิดไว้คือจะทำทัวร์จักรยาน เราสนใจทางด้านชุมชน วัฒนธรรมเก่าแก่ ตลาดเก่าแก่ที่อยู่ในย่านเรา แต่การปั่นจักรยานมันคือการปั่นไปข้างนอก มันยังไม่ตอบโจทย์สิ่งที่เราคิดไว้ ก็เลยคิดว่าทำไมเราไม่ดึงเอาสิ่งที่อยู่ข้างนอกมาไว้ในประชา แล้วสร้างที่นี่เป็นพื้นที่เปิดเพื่อจัดแสดงงานหลาย ๆ อย่างเกี่ยวกับตลาดพลู ให้มันเป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นพื้นที่ที่คนทั้งในและนอกย่านมาทำความรู้จักย่านผ่านงานคาร์ฟ และศิลปะ”
นั่นทำให้คาเฟ่แห่งนี้มีครบทั้งมนต์เสน่ห์จากความเก่าแก่ของตัวอาคาร นิทรรศการศิลปะหมุนเวียน กิจกรรม Workshop งานคราฟต์จากคนเก่าคนแก่รอบ ๆ ย่าน รวมถึงทัวร์ปั่นจักรยานที่มีคุณมนตรีเป็นไกด์นำเที่ยวในรอบเช้า และรอบเย็น
“Workshop ก็จะเป็นคุณลุงคุณป้าที่ทำงานคราฟต์ในย่านตลาดพลู หลาย ๆ อย่างที่เขามาสอนมันเป็นสิ่งที่หายากแล้วในทุกวันนี้ อย่างเช่น การทำว่าวจุฬาขนาดใหญ่ เราชวนลุงเบื้อก – เสรี สุดจินดา แชมป์ระดับประเทศให้มาสอน”
หากใครยังจำลุงตุ๋ย ผู้สอน DIY ของเล่นไม้ในความทรงจำจากงาน Bangkok Design Week ได้ คุณมนตรีก็ได้ชวนลุงตุ๋ยให้มาจัด Workshop งานไม้ที่ประชาคาเฟ่เช่นกัน และยังมีคุณลุงคุณป้าอีกหลาย ๆ ท่าน ที่เขากำลงเชิญชวนอยู่
ในส่วนนิทรรศการศิลปะ ตอนที่เราไปที่ประชากำลังจัดแสดงภาพผลงงานวาดย่านตลาดพลูโดยกลุ่มบางกอกสเก็ตเชอร์ คุณมนตรีบอกกับเราว่า เขาจะทำการหมุนเวียนนิทรรศการทุก 2 เดือน และเขาก็ได้วางแผนการจัดนิทรรศการล่วงหน้าไว้แล้วถึง 1 ปี
“เสน่ห์ของตลาดพลู ก่อนหน้านี้เราอยู่กับมันเห็นมันทุกวันเราก็ไม่ได้สนใจนะ จนเราเห็นคนข้างนอกเข้ามาดูมันทุกวัน” -คุณมนตรี
โมเดลธุรกิจที่ไม่กลัวคนทำตามแถมสนับสนุนด้วย
การทำงานกับชุมชน หยิบเสน่ห์ของย่านจากหลาย ๆ ส่วนมาไว้ในที่ที่เดียวนั้นไม่ง่ายอย่างที่คิดเสมอไป คุณมนตรีบอกกับเราว่า ก่อนเปิดประชา เขาเองต้องคำนึงถึงความพร้อมของคนในชุมชนอยู่เสมอ คาเฟ่ประชาจึงค่อย ๆ ขยับช้า ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายไปพร้อมกับความพร้อมของคนในชุมชน
“ชุมชนเขาอยู่แบบพี่แบบน้อง ยังไม่คุ้นกับการที่นักท่องเที่ยวมาเดินทัวร์เดินถ่ายรูป เวลาออกพาทัวร์เราก็พยายามจะไม่ไปรบกวนวิถีชีวิตเขาเยอะ แต่ตอนหลัง ๆ เขาก็เริ่มเปิดรับเยอะขึ้น จนเราทำคาเฟ่สำเร็จเป็นรูปเป็นร่าง เขาก็เข้ามายินดีที่จะเป็นแลนด์มาร์คใหม่ ได้มีการพูดคุยกันมากขึ้น รอบบ้านใกล้เคียงได้เข้ามาคุยกันมากขึ้นทั้งรุ่นเก๋า และเด็กยุคใหม่
“จะมีคุณลุงคุณป้าเกือบ 5 – 6 คน ซึ่งเขาย้ายไปอยู่ที่อื่น แล้วเขาเห็นจากลูกเขาเอาให้ดู เขาก็มาพูดคุยกับเรา คุณพ่อก็บอกคนนี้อยู่บ้านตรงนี้ คนนี้อยู่ตรงนี้ เขาย้ายออกไปแล้ว และประชาเป็นมิติความทรงจำเก่า ๆ ที่ทำให้เขาได้กลับมาดูบ้านที่ตัวเองเคยอยู่
“การทำตรงนี้ เรารู้สึกปลื้มใจที่ได้เห็นคนต่างถิ่นเข้ามาดูงานที่เราทำ ได้เห็นคนรุ่นเก่า กับเด็กยุคใหม่มาทำ Workshop ทำให้เหมือนเป็นจุดเชื่อมคนแต่ละรุ่นเข้าด้วยกัน
“ก็มีกลุ่มน้อง ๆ รุ่นใหม่เขาเดินเข้ามาแล้วก็บอกอยากเปิดบ้านแบบที่พี่ทำบ้าง เราดีใจที่เราสามารถจุดประกายให้เขาได้ เรามีมุมมองว่าโลกของการเเข่งขันในธุรกิจเราไม่สามารถห้ามใครได้ หรือไปกีดกันได้ มันเป็นโลกเปิด สุดท้ายลูกค้าเป็นคนเลือกเองว่าจะเข้าร้านแบบไหน
“สำหรับเราถ้ามีคนทำเยอะ ๆ ก็ยิ่งดี เพราะจะได้เป็นจุดเด่นของย่านนั้น ๆ ทำให้นักท่องเที่ยวมีตัวเลือกมากขึ้น แล้วก็ส่งเสริมย่านนั้น ๆ ไปพร้อมกันด้วย”
เมื่อเป้าหมายชัด ก้าวถัดไปจึงเป็นการไปให้ถึง
แม้ประชาจะออกเดินทางได้เพียง 4 เดือน แต่ที่นี่ก็เติมเต็ม และถูกเติมเต็มด้วยความทรงจำจากผู้คนที่แวะเวียนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
คุณมนตรีเล่าแผนการของเขาให้เราฟังว่า เมื่อใดก็ตามที่ร้านเริ่มลงตัว เขาอยากรับสมัครพนักงานเป็นคนในย่านเพื่อสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน โดยที่ส่วนหนึ่งของการเทรนนิ่งเขาจะพาพนักงานไปรู้กับจักเสน่ห์ของย่านตลาดพลู
ขอคั่นเวลาด้วยมัฉฉะครั้นชี่ที่โรยหน้าด้วยขนมตุ๊บตั๊บมาโรยส่งมอบสัมผัสกรุ๊บกรอบตัดกับรสมัฉฉะ เสิร์ฟคู่กับกาแฟ และขนมโบราณที่คุณมนตรีตั้งใจเลือกหยิบจากย่านตลาดพลูมาวางขายในร้าน แม้เจ้าตัวจะบอกว่าไม่ได้เน้นความเป็นคาเฟ่ เพราะในกรุงเทพ ฯ มีคาเฟ่เยอะแล้ว แต่เมนูเครื่องดื่มและขนมหวานก็ยังเป็นหัวใจสำคัญที่ต้องให้ความสำคัญ
“เรื่องที่ร้านพยายามจะปรับตัวก็คือเรื่องสิ่งแวดล้อม อย่างพวกแก้วกระดาษแก้วอะไรพวกนี้เราพยายามจะใช้ตัวนี้เยอะขึ้น แล้วก็พยายามจะสร้างการเรียนรู้ฟรี ๆ ในร้านเพื่อให้คนหันมาสนใจเยอะขึ้น รวมถึงในอนาคตเราก็อยากเอาโมเดลตลาดพลูไปแสดงที่ต่างปะเทศ ถ้าทำได้
“เพราะเราตั้งใจอยากให้ตลาดพลูออกสู่สายตาชาวต่างชาติให้มากขึ้น”
อ้างอิง
นั่งรถไฟไปตลาดพลู ทางรถไฟยุคแรกที่เชื่อมกรุงเทพฯ-มหาชัย โลเคชันถ่ายทำภาพยนตร์หลานม่า
ติดตามข่าวสารธุรกิจร้านอาหาร
Facebook : Torpenguin
Instargram : torpenguin
TikTok : @torpenguin
YouTube: Torpenguin
อ่านต่อบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
Mother Roaster ร้านกาแฟของป้าพิม มนุษย์วัยเกษียณที่ไม่เคยหยุดฝัน และมีอีก 167 ล้านสิ่งที่อยากทำ
สุดฤทธิ์น่าน ร้านกาแฟที่ตั้งใจผลักดันกาแฟมณีพฤกษ์จากน่าน ให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก
หอมรัญจวน กับการเริ่มทำคาเฟ่ขนมไทยในวันที่ไม่มีใครให้เดินตาม
Better Moon café คาเฟ่กรีน ๆ ที่เชื่อว่า ‘สิ่งแวดล้อม’ กับ ‘ธุรกิจร้านอาหาร’ สามารถเดินไปด้วยกันได้