ลุงหนวดหมูทอด ร้านข้าวเหนียวหมูขวัญใจเด็ก ม.กรุงเทพ ผู้เชื่อมั่นในแนวคิด “เราอยากกินของอร่อยแบบไหน ลูกค้าต้องได้กินแบบนั้น” มาตลอด 26 ปี
ข้าวเหนียวหมูทอดในรถพ่วงที่มีป้ายโลโก้เป็นชายวัยกลางคนสีแดงโดดเด่นเตะตานี้ คือร้านลุงหนวดหมูทอดที่เป็นขวัญใจของเด็กมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ด้วยความอร่อยและกินได้ง่ายจึงเหมาะกับเด็ก ๆ ทำให้ร้านหมูทอดลุงหนวดกลายเป็นสัญลักษณ์ที่เด็กมหาวิทยาลัยกรุงเทพจดจำได้ไม่ลืม
วันนี้เรามานั่งคุยกับลุงหนวด เจ้าของร้าน ลุงหนวดหมูทอด ที่เปิดมาแล้วกว่า 26 ปี โดยก่อนที่ลุงหนวดจะเริ่มมาขายหมูทอด ลุงหนวดเป็นเกษตรกรมาก่อน จนน้อง ๆ ชวนลุงหนวดมาขายของด้วย ลุงหนวดเลยลองขายหมูทอดดูและผลตอบรับก็ดีมากเลยยึดเป็นอาชีพลักจนทุกวันนี้
เมนูเริ่มต้นของร้านลุงหนวดคือ หมูแผ่นแดดเดียว หมูฝอย หมูเค็ม หมูกรอบ ซึ่งมีไม่กี่อย่างเท่านั้น แล้วจึงค่อย ๆ ทำเมนูเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้ลูกค้า สมัยก่อนนั้นลุงหนวดขับรถไปขายอยู่ตามสวนอาหาร
จุดเริ่มต้นที่ทำให้ลุงหนวดไปขายที่มหาวิทยาลัย เกิดจากคำแนะนำของลูกค้าตามสวนอาหารนั่นเอง เขาแนะนำว่าน่าจะลองไปขายตามมหาวิทยาลัยดู เพราะหมูทอดของลุงเป็นอาหารที่ทานง่ายเหมาะกับเด็ก ๆ ที่ต้องรีบเข้าเรียน ลุงหนวดเลยลองมาขายดูตามแถบมหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จนมาปักหลักที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพเนื่องจากได้รับการตอบรับจากนักศึกษาดีกว่าที่อื่น
การตลาดแบบปากต่อปาก ที่บอกกล่าวถึงรสชาติอาหารของร้านลุงหนวดหมูทอดแบบเป็นทอด ๆ จากเด็กมหาวิทยาลัย รุ่นพี่ที่จบไปแล้วแนะนำรุ่นน้อง รุ่นน้องไปบอกต่อกันอีกทีจนมีคนมาอุดหนุนเป็นประจำไม่ขาด
ลุงหนวดยึดหลักว่า “เราทานแบบไหน ลูกค้าก็ต้องได้ทานแบบนั้นเช่นกัน”
เมื่อวัตถุดิบดี ผ่านฝีมือที่เยี่ยมของลุงหนวด ลุงหนวดหมูทอดเลยเป็นเมนูแรก ๆ ที่ลูกค้ามักนึกถึงเสมอและเป็นเมนูที่เด็กมหาวิทยาลัยกรุงเทพคิดถึงจนตามมาทานที่สาขาสองอย่างต่อเนื่องด้วย
ปัญหาของการเปิดร้านตามมหาวิทยาลัย ก็คือช่วงปิดเทอม ที่เด็ก ๆ กลับบ้านจนไม่มีลูกค้า แต่ลุงหนวดก็เปิดอีกสาขา ที่ตลาด 200 ปี แทน เลยทำให้มีลูกค้าตลอดเวลา ไม่ต้องรอนักศึกษาแต่เพียงอย่างเดียวเพราะลุงหนวดออกไปหาลูกค้าเองทำให้ได้ฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นด้วย
การเพิ่มเมนูใหม่ของลุงหนวดนั้นจะเริ่มจากที่ลุงคิดสูตรทำกินเองก่อน โดยยึดเมนูที่สามารถทานกับข้าวเหนียวแล้วอร่อยเป็นหลัก พอตัวเองทานแล้วอร่อยก็จะเริ่มทดลองเอามาขาย ถ้าเมนูไหนขายดีก็จะกลายเป็นเมนูประจำร้านไปในที่สุด เป็นการเพิ่มความหลากหลายให้ลูกค้า เพราะบางคนก็ไม่ได้อยากทานแค่หมูทอดแต่ต้องการเมนูอื่น ๆ ด้วยเหมือนกัน
ช่วงโควิดนั้นแม้ร้านจะได้รับผลกระทบจากการที่คนไม่ค่อยออกมาซื้ออาหาร และตัวลุงหนวดก็ยังไม่ได้เข้าร่วมกับแอปเดลิเวอรีต่าง ๆ ตอนนั้นอาศัยประคองร้านให้ผ่านช่วงวิกฤติไปให้ได้ จนหลังจากโควิดผ่านไปทุกอย่างก็เริ่มกลับมาดีขึ้น และร้านลุงหนวดหมูทอดก็เข้าระบบเดลิเวอรี ซึ่งได้ผลตอบรับดีเช่นกัน
ร้านหมูทอดลุงหนวดนั้นตามปกติจะขายในช่วงกลางคืน ยิ่งสมัยก่อนที่เน้นขายตามมหาวิทยาลัย ลุงหนวดจะเปิดยาวไปจนถึงตอนเช้าเลย ลูกค้าเข้ามาซื้อเรื่อย ๆ และสังคมของเด็กมหาวิทยาลัยบางครั้งก็อ่านหนังสือดึกบ้าง หรือไปเที่ยวกลับมามืดค่ำ ร้านหมูทอดลุงหนวดเลยกลายเป็นอาหารมื้อสุดท้ายก่อนเข้านอนของใครหลาย ๆ คนไปโดยปริยาย
สิ่งสำคัญในการทำร้านอาหารของลุงหนวดคือ การเน้นความจริงใจ ขายอย่างผู้ให้ ไม่เอากำไรเกินควร ลุงอยู่ได้ลูกค้าอยู่ได้ แค่นี้พอแล้ว
ร้านหมูทอดเล็ก ๆ ของลุงหนวดอาจจะเป็นอาหารในความทรงจำของเด็กม. กรุงเทพหลาย ๆ คน เราได้เห็นความใส่ใจในการทำอาหารของลุง เวลาที่ลูกค้ามาซื้ออาหารกับลุง ลุงหนวดเป็นคนสุภาพ และให้บริการลูกค้าเป็นอย่างดี
ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าอาหารที่อร่อยนั้นมาจากความรักของผู้ทำ ที่ถ่ายทอดเป็นรสชาติไปถึงคนที่ทาน และหากรสชาติอาหาร คุณภาพ และบริการไม่สามารถจับใจลูกค้าได้ ร้านลุงหนวดคงไม่เปิดมานานร่วมยี่สิบปีอย่างนี้แน่นอน
เป็นอีกหนึ่งร้านคุณภาพที่น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการหลาย ๆ ท่านได้นะครับ มีแนวคิดหลายอย่างที่คนทำร้านอาหารอย่างเราสามารถนำไปต่อยอดได้ไม่ยากเลย 😊
ไว้พบกันใหม่ในบทความหน้า ฝากติดตาม Torpenguin 🐧 ในทุก ๆ ช่องทางด้วยนะครับ
ติดตามข่าวสารธุรกิจร้านอาหาร
Facebook : Torpenguin
Instargram : torpenguin
TikTok : torpenguin
Youtube : Torpenguin
อ่านบทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจต่อ
- ผงชูรส ร้านอาหารไทย-อีสาน กับเส้นทางสุดจัดจ้านที่ไม่ได้โรยด้วยผงชูรสแม้แต่นิดเดียว
- B:A:S Beef Alternative Service จากธุรกิจจักรยานสู่ธุรกิจเนื้อ เพราะวิกฤตมันบังคับให้เราต้องเปลี่ยน
- หมูทอดติดฟัน จากร้านหมูทอดข้างถนน สู่การเป็นแบรนด์แฟรนไชส์หมูทอด
- ที่นี่ Basil กะเพราป่า ร้านกะเพราลูกครึ่งบาร์ ที่เกิดจาก ‘โอกาส’ ในวันที่บาร์เจอวิกฤติ
- หมูสองชั้น ความสำเร็จจากเชียงใหม่ กับการเป็นผู้เล่นใหม่ในกรุงเทพ ฯ บนทำเลสุดหิน
- Fishmonger ร้านฟิชแอนด์ชิพ ที่เชื่อมคนเมือง กับ ประมงท้องถิ่น ผ่านปลาไทย